ประกันสังคมประกาศ แจ้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ลดอัตราเงินสมทบ 42 จังหวัด 6 เดือน
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดคณะกรรมการประกันสังคม
กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการ เพื่อให้การช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 42 จังหวัด โดยเร่งด่วน รายละเอียดดังนี้ 1.ลดอัตราเงินสมทบ ช่วงระยะเวลา 6 งวดเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 รายละเอียดดังนี้ อัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราร้อยละ 5 ลดเหลืออัตราร้อยละ 3 เช่น ค่าจ้าง 15,000 เดิมต้องจ่าย 750 บาทต่อเดือน ในงวดที่ได้รับการลดหย่อนจ่ายเพียง 450 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมอัตราร้อยละ 9 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาทต่อเดือน ลดลงเหลืออัตราเงินสมทบร้อยละ 5.9 เท่ากับจ่ายเงินสมทบ 283 บาทต่อเดือน 2.ขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม โดยขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับงวดการส่งเงินสมทบ 4 งวดของเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนกันยายน 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 ตุลาคม 2567 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 มกราคม 2568 ค่าจ้างงวดเดือนตุลาคม 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 พฤศจิกายน 2567 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ค่าจ้างงวดเดือนพฤศจิกายน 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 ธันวาคม 2567 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 มีนาคม 2568
ค่าจ้างงวดเดือนธันวาคม 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 มกราคม 2568 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 เมษายน 2568 นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า การลดหย่อนเงินสมทบในครั้งนี้ สามารถลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตนได้เป็นจำนวนกว่า 7 พันล้านบาท จำแนกเป็นเงินสมทบฝ่ายนายจ้างจำนวนประมาณ 3,400 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาท
สำหรับขั้นตอนการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จะเร่งดำเนินการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชำระเงินสมทบล่าช้าจากการขยายเวลาการนำส่ง ขอให้นายจ้างจัดทำแบบนำส่งเงินสมทบตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดลดหย่อน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายชื่อ 42 จังหวัดนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ และลดหย่อนอัตราเงินสมทบตามพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (กรณีอุทกภัย) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 ฝ่ายละร้อยละ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ในการออกประกาศ กระทรวงแรงงาน จำนวน 42 จังหวัดต่อไป