DSI ส่งเรื่อง กรณี ร้องเรียนให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนประกอบกิจการฟาร์มสุกร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พบพื้นที่บางส่วนอาจอยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และอาจอยู่ในที่ดินของรัฐ

DSI ส่งเรื่อง กรณี ร้องเรียนให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนประกอบกิจการฟาร์มสุกร สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พบพื้นที่บางส่วนอาจอยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และอาจอยู่ในที่ดินของรัฐ

สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบ กรณีมีบริษัทเอกชนซึ่งประกอบกิจการฟาร์มสุกร ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณกว่า 200 ไร่ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ร้องและประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จากปัญหากลิ่น เสียง และการระบายน้ำเสียจากมูลสุกรเรื่อยมา ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่เจริญเติบโต และได้ผลผลิตไม่ดี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ได้เกิดเหตุการณ์บ่อบำบัดของเสียของฟาร์มเลี้ยงสุกรดังกล่าวแตกและทรุดตัว ทำให้น้ำเสียจากมูลสุกรจากบ่อบำบัดไหลทะลักลงลำรางสาธารณะและอ่างเก็บน้ำชลประทาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการผลิตน้ำประปา และไหลทะลักเข้าพื้นที่การเกษตรของประชาชนข้างเคียงได้รับความเสียหาย โดยผู้ร้องเรียนเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรืออาจอยู่ในที่ดินของรัฐประเภทอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจังในทุกบทกฎหมาย

กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการสืบสวนแล้วพบว่า พื้นที่ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัทเอกชนรายดังกล่าวตามการนำชี้ของผู้แทนบริษัทฯ มีเนื้อที่ประมาณ 203-2-96 ไร่ แปลงที่ดินประกอบด้วยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินตามหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จากการตรวจสอบโดยนำแผนที่แสดงแนวเขตป่าไม้ถาวร แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง และแนวเขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อนลงบนแผนที่ภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับที่แสดงตำแหน่งที่ตั้ง พื้นที่ประกอบกิจการฟาร์มสุกรตามการนำชี้ พบว่า พื้นที่ประกอบกิจการดังกล่าวอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรบางส่วน เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วน

โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เนื้อที่ประมาณ 168-1-58 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง ทั้งนี้ จากการสืบสวนปรากฏพยานหลักฐานว่าพื้นที่ที่บริษัทฯ อ้างหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) เป็นของบุคคลอื่นที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ด้วยตนเอง อีกทั้งมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ดังกล่าวอาจเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีที่ดินบางแปลงเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวแนวเขตปฏิรูปที่ดิน และบางแปลงอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดิน แต่มีการก่นสร้าง แผ้วถางเพิ่มเติมภายในพื้นที่ซึ่งได้มีการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของรัฐ และในชั้นสืบสวนไม่ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบพบการกระทำความผิดดังกล่าว และดำเนินการ ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

การกระทำของบริษัทฯ เข้าข่ายเป็นการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ป่าและที่ดินของรัฐในเขตปฏิรูปที่ดิน และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่แตง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประมวลกฎหมายที่ดิน แต่เนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกรณีอาจมีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ และดำเนินคดีกับบุคคลที่ยึดถือครอบครองที่ป่า หรือที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในอำนาจไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงพิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมทั้งส่งข้อมูลการสืบสวนไปให้กรมป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเทศบาลตำบลแม่แตง พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

ในส่วนของปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบต่อประชาชนภายหลังเกิดเหตุหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา โดยปัจจุบันมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารกำแพงกันดินแบบถาวร และบริษัทฯ ให้ข้อมูลว่า มีแผนในการจัดการของเสียและแผนในการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอีก จึงได้แจ้งข้อมูลไปยังกรมควบคุมมลพิษ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ