หลายคนยังไม่รู้ สัญญาณไฟกะพริบฉุกเฉินใช้ได้เฉพาะ 2 กรณีนี้เท่านั้น
ไฟฉุกเฉิน หรือ ไฟผ่าหมาก (hazard lights) คือไฟที่เป็นรูปสามเหลี่ยมสีแดง ๆ ในรถยนต์ เมื่อเปิดแล้วจะเป็นไฟกระพริบที่ไฟหน้าและท้ายรถพร้อม ๆ กัน ไฟฉุกเฉินมีเอาไว้เปิดเมื่อยามฉุกเฉินบนท้องถนนใน 2 กรณีนี้เท่านั้น เราควรเรียนรู้การใช้ไฟฉุกเฉินที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนและลดอุบัติเหตุร้ายแรง อันตรายถึงชีวิตมีอะไรบ้างไปดูกัน
1. รถจอดเสียอยู่กับที่ - กฎหมายกำหนดให้ใช้ไฟฉุกเฉินเฉพาะกรณีรถที่จอดเสียอยู่กับที่เท่านั้น เนื่องจากไฟฉุกเฉินถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น รถประสบอุบัติเหตุ หรือจอดเสียกีดขวางจราจร จะเป็นการเตือนผู้ขับขี่ที่ขับตามหลังมาให้เพิ่มความระมัดระวัง
การเปิดไฟฉุกเฉินขณะจอดรถในที่ห้ามจอด หรือจอดรถกีดขวางจราจร ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ดี เนื่องจากเป็นการกีดขวางจราจร ทำให้จราจรติดขัด มีโทษปรับสูงสุด 500 บาท
2. รถเบรกกะทันหัน - กรณีรถเบรกกะทันหันเนื่องจากข้างหน้ามีอุบัติเหตุ หรือเบรกตามกันมา อาจเปิดไฟฉุกเฉินเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ จนกว่ารถที่ตามมาด้านหลังจะหยุดสนิท จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุชนท้ายลงได้
ส่วนกรณีอื่นๆ นอกเหนือจาก 2 กรณีดังกล่าว ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉินพร่ำเพรื่อโดยเด็ดขาด เช่น ขณะข้ามทางแยก เนื่องจากรถที่แล่นมาด้านข้างอาจเกิดความสับสน และขณะฝนตกหนักหรือหมอกลงจัด จะทำให้ผู้ขับขี่รอบข้างมองเห็นทางไม่ชัด