ไบต์แดนซ์ สั่งปลดพนง.กว่า 700 คน ในมาเลเซีย หันมุ่งใช้ AI กลั่นกรองเนื้อหา และเดือนหน้ามีแผนที่จะปลดอีก (ข่าวต่างประเทศ)

ไบต์แดนซ์ สั่งปลดพนง.กว่า 700 คน ในมาเลเซีย หันมุ่งใช้ AI กลั่นกรองเนื้อหา และเดือนหน้ามีแผนที่จะปลดอีก (ข่าวต่างประเทศ)

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างการ เปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิด 2 รายกล่าวว่า ไบต์แดนซ์ บริษัทโซเชียลมีเดียสัญชาติจีน ผู้เป็นเจ้าของติ๊กต๊อก (TikTok) ได้ทำการปลดพนักงานที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศมาเลเซียจำนวนกว่า 700 คน ซึ่งมีขึ้นในขณะที่ไบต์แดนซ์หันไปมุ่งเน้นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการกลั่นกรองเนื้อหามากขึ้น แหล่งข่าวเผยว่า พนักงานไบต์แดนซ์ในมาเลเซียที่ถูกปลดออก ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกลั่นกรองเนื้อหาของบริษัทนั้นได้รับแจ้งการเลิกจ้างงานทางอีเมลเมื่อค่ำวันพุธที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อรอยเตอร์ได้สอบถามเรื่องนี้ไปก็ได้รับการยืนยันจากติ๊กต๊อกในวันศุกร์(11 ต.ค.)เรื่องการปลดพนักงานจริง แต่ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่ามีพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างครั้งนี้ในมาเลเซียจำนวนเท่าไร

อย่างไรก็ดีคาดการณ์ว่าจะมีพนักงานหลายร้อยคนทั่วโลกของไบต์แดนซ์ที่จะได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านการกลั่นกรองเนื้อหาของบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่จีนแห่งนี้ จากเดิมที่ติ๊กต๊อกใช้การผสมผสานระหว่างการตรวจจับโดยอัตโนมัติกับการกลั่นกรองเนื้อหาโดยมนุษย์เพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่โพสต์บนเว็บไซต์

ทั้งนี้ไบต์แดนซ์มีพนักงานจำนวนกว่า 110,000 คน ในกว่า 200 เมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งแหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่าไบต์แดนซ์ยังมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานลงอีกในเดือนหน้าขณะที่กำลังมองแนวทางการรวมการดำเนินงานในภูมิภาคบางส่วนเข้าด้วยกัน ขณะโฆษกของติ๊กต๊อกกล่าวว่าเรากำลังเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะสร้างโมเดลการดำเงินงานทั่วโลกสำหรับการกลั่นกรองเนื้อหาให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งบริษัทคาดว่าจะทุ่มเงินลงทุนจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ ทั่วโลกด้านความไว้วางใจและความปลอดภัยในปีนี้

และจะดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพต่อไป โดย 80% ของเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์ขณะนี้ได้ถูกลบออกโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติ รอยเตอร์รายงานว่า ข่าวการเลิกจ้างนี้ของไบต์แดนซ์ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อวันก่อนโดยสื่อมาเลเซีย ขณะที่การปลดพนักงานเกิดขึ้นในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งเผชิญความกดดันมากขึ้นจากกฎระเบียบของมาเลเซียที่รัฐบาลได้ขอให้บริษัทผู้ดำเนินงานโซเชียลมีเดียยื่นขอใบอนุญาตดำเนินงานภายในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อสู้กับการกระทำผิดทางไซเบอร์ของทางการมาเลเซีย

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ