DSI ทลายเหมืองบิทคอยน์เถื่อน ในพื้นที่ท่าม่วง กาญจนบุรี พบเครื่องขุดกว่า 300 เครื่อง ขโมยไฟหลวง-ทำรัฐเสียหายปีละกว่า 100 ล้าน
วันที่ 9 ตุลาคม 2567 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นายธนะ โชคพระสมบัติ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคกลาง) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่ตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยในพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นจุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล จำนวน 13 จุด ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ปีละกว่า 100 ล้านบาท
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้องเรียนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคกลาง) ว่าพบการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์อย่างผิดกฎหมาย โดยขอให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทำการสืบสวน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ามีเครือข่ายผู้ลักลอบกระทำความผิด รวมตัวเช่าบ้านและอาคารพาณิชย์กว่า 13 แห่ง กระจายตัวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ และลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ส่งผลให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากและกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ขอหมายค้นเข้าทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบเครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัล จำนวน 300 เครื่อง และควบคุมตัวนายกฤษดา (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับว่าเป็นเจ้าของและผู้แล (แอดมิน) ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าม่วง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายธนะฯ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกล่าว การขุดเหมืองบิทคอยน์ดังกล่าว จะใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากขนาดเทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีการลักลอบดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมการระบุตัวเลขจากมิเตอร์ไฟฟ้าให้มีจำนวนตัวเลขน้อยกว่าความเป็นจริง และจากการตรวจสอบประวัติการชำระค่าไฟฟ้าบ้านเป้าหมายแรก มีเครื่องขุดเงินดิจิทัล 12 เครื่อง กำลังเครื่องละ 3.6 กิโลวัตต์ พบว่าเครือข่ายดังกล่าว จ่ายค่าไฟฟ้าเพียง 100 - 400 บาทต่อเดือน ทั้งที่ค่าไฟจริง เมื่อคำนวณตามกำลังของอุปกรณ์ จะประมาณ 150,000 บาท ทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สูญเสียรายได้จำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการนำส่งรายได้ต่อรัฐ จึงได้ประสานขอความร่วมมือกรมสอบสวนคดีพิเศษในการปราบปรามเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ พันตำรวจตรี ยุทธนาฯ กล่าวว่า การกระทำผิดในเรื่องนี้ นอกจากเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคไฟฟ้ารายอื่นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการนำส่งรายได้แผ่นดินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่นำส่งรายได้แผ่นดินเพื่อจะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ และเข้าข่ายความผิดฐานลักทรัพย์และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และมาตรา 335(1) และอาจมีความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายฐานความผิด ซึ่งหากพบความผิดที่เข้าข่ายความผิด ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพิ่มเติม ก็จะรับเป็นคดีพิเศษต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของและผู้พักอาศัยในอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ช่วยกันสังเกตพื้นที่โดยรอบ หากพบสถานที่น่าสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และสำหรับกรณีที่อาจมีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเกี่ยวข้อง กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพื่อรักษาความปลอดภัยทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน