เตรียมเฮ บอร์ดประกันสังคม จ่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ม.40 ขาดรายได้จากการตั้งครรภ์สูงสุด 3 พัน 3 เดือน
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชุดที่ 14 ครั้งที่ 14/2567 โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง คณะกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมบอร์ดประกันสังคมในหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มีการปรับวงเงินเพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขต่างๆ แต่ประเด็นที่สำคัญเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนคือ มีการพิจารณาเพิ่มสิทธิชดเชยการขาดรายได้ (หยุดงาน) จากการตั้งครรภ์ เหมือนกับเป็นค่าคลอดบุตรสำหรับผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ในมาตรา 40 กลุ่มอาชีพอิสระ จะได้รับค่าชดเชยสูงสุด 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน “เดิมทีผู้ประกันตนในมาตรา 40 จะไม่ได้รับค่าชดเชยตรงนี้ จะได้รับเงินชดเชยในเรื่องของการขาดรายได้ ทุพพลภาพ และเงินออมช่วงเกษียณ เรื่องนี้ถือว่าเป็นรายการใหม่ที่น่าสนใจเพิ่มเข้ามาที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะจะทำให้ผู้ใช้แรงงานกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย มีความสนใจในการเข้าเป็นผู้ประกันตนมากขึ้น โดยกระบวนการตอนนี้ หากผ่านการพิจารณาบอร์ดประกันสังคมชุดใหญ่แล้ว ก็จะนำเสนอต่อปลัดกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้ในช่วงต้นปี 2568” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนแห่ถอนชื่อจากระบบประกันสังคม เนื่องจากถูกลดค่ารักษาโรคซับซ้อนที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงทำให้เกิดภาวะขาดทุนนั้น รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) หลายๆ อย่างอาจจะไม่ได้ผ่านบอร์ดประกันสังคมชุดใหญ่ รวมถึงวิธีการจ่ายเงินต่างๆ จะอยู่ที่บอร์ดแพทย์ เว้นแต่ว่าเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ใหม่ๆ ที่เข้ามา ถึงจะเป็นบอร์ดใหญ่ที่ได้เห็น แต่เบื้องต้น เรื่องงบประมาณด้านการแพทย์อยู่ที่ 80% ของสิทธิประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงขึ้นทุกปี ขณะเดียวกัน สวัสดิการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ทางประกันสังคมก็เพิ่มงบประมาณขึ้นทุกปี แต่การบริการก็ยังคงมีปัญหาให้เห็นอยู่เนื่องจากการค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์สูงขึ้นมาก เปรียบเทียบคือ หากเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ค่าใช้จ่ายรายปีจะสูงขึ้นราว 3% ต่อปี แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน ที่มีผู้ประกันตนอยู่จำนวนมาก สูงขึ้นประมาณ 10% ต่อปี
เนื่องจากค่าใช้จ่ายเทคโนโลยีและการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาตรงนี้ต่อไป เมื่อถามว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนหรือไม่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ต้องไปดูภาพใหญ่ว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับผู้ประกันตนอยู่เท่าไหร่ แต่ก็มีโรงพยาบาลเอกชนที่สามารถรับผู้ประกันตนเพิ่มได้ ในช่วงแรกไม่ได้เป็นปัญหา โรงพยาบาลเอกชนส่วนมากที่จะออกจากระบบประกันสังคม จะเป็นปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของแต่ละโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็มีหลายโรงพยาบาลที่เกิดใหม่ ที่รับรายได้จากผู้ประกันตน เพราะฉะนั้นจะต้องมาหารือกันเรื่องตัวเลขอัตราการรักษาว่าจะต้องเป็นในทิศทางใด ตอนนี้ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการเรื่องค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับการแพทย์ ซึ่งตนหวังว่าจะมีการประชุมกันในเร็วๆ นี้ และได้รับคำตอบเรื่องนี้ได้