เตือน กินหมูดิบ เนื้อดิบ ป่วยไข้หูดับ 149 ราย ดับแล้ว 12 ราย
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9(ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ) นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หูดับในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 – 3 กันยายน 2567 พื้นที่ดูแล 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 149 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 12 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 89 ราย เสียชีวิต 6 ราย , จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 31 ราย เสียชีวิต 4 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
และ 2.จากการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อ 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ ช่วงนี้พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการดื่มสุราร่วมกับกินหมูดิบ ก้อยดิบ ลาบเลือดดิบ หรือแหนมหมูดิบ ซึ่งเสี่ยงทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส นอกจาก พ่อครัว แม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ก็เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้เช่นกัน
ส่วนวิธีการบีบมะนาวก็ไม่ได้ทำให้เนื้อหมูสุก ดังนั้น ขอย้ำเตือนประชาชนให้รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น ผ่านความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาที อย่ากินหมูดิบ เนื้อดิบ รวมถึง อาหารปิ้งย่างควรใช้อุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบแล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้ว อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน หรือที่เรียกว่า “หูดับ” จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ให้เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ รวมทั้ง ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบูทยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง หากมีอาการป่วย สงสัยโรคไข้หูดับโดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรงเนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422