เปิดปฏิบัติการค้นบริษัท หวังฮุบกิจการพันล้าน ต้นเหตุคดีจ้างวานฆ่า
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์, พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ., ว่าที่ พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ., พ.ต.ท.นนทพัทธ์ ยอดแก้ว, พ.ต.ท.ภาสกร นภาโชติ, พ.ต.ท.ณธัชพงศ์ สินสิริยานนท์ และ พ.ต.ท.ชวลิต น้ำใจสัตย์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท.วรพจน์ ลลิตจิรกุล , พ.ต.ต.รัฐชิน เจริญรัมย์ , พ.ต.ท.ชาญณรงค์ กันยิ่งสว. กก.3 บก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ. พร้อมกำลัง ชุดปฏิบัติการพิเศษ (หนุมาน) เข้าตรวจค้น บริษัท แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ
พฤติการณ์ เนื่องจากมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกรรมการและผู้ถือหุ้นบางส่วนที่มีพฤติกรรมทุจริตเพื่อเข้าครอบครองหรือฮุบกิจการไว้เป็นของกลุ่มตนเอง โดยมีการทำปลอมแปลงเอกสารสำคัญทางบริษัท เช่น รายงานการประชุม สัญญาซื้อขาย และมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อถ่ายโอนทรัพย์สินจากบริษัทเดิมไปยัง บริษัทใหม่ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท
โดยสาเหตุดังกล่าวเป็นชนวนให้เกิดการขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจและความขัดแย้งภายในครอบครัว กระทั่งนำไปสู่การวางแผนจ้างวานฆ่าในคดีที่พ่อจ้างวานฆ่าลูกและภรรยาตนเอง ซึ่งมีการจับกุมผู้บงการและผู้มีส่วนร่วมในคดีจ้างวานฆ่าดังกล่าว จำนวน 3 ราย เมื่อปลายปี พ.ศ.2566 โดย 1 ในผู้ต้องหานั้นเป็นถึงอดีตนายพลเรือตรีชื่อดัง (ตามที่เคยข่าวโด่งดังในช่วงเวลาดังกล่าว)
ซึ่งจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ กก.3 บก.ปอศ. พบว่าหลังจากที่มีดำเนินการการจับกุมผู้ต้องหาในคดีจ้างวานฆ่าดังกล่าวแล้ว ยังคงมีกลุ่มทหารที่เป็นลูกน้องของอดีตพลเรือตรีที่ถูกจับกุม จำนวนหลายนาย เข้ามาดำเนินการ ในรูปแบบของผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ โดยมีพฤติการณ์แทรกแซงและเข้าควบคุมการดำเนินกิจการของบริษัท ในลักษณะข่มขู่พนักงานในบริษัท ภายใต้คำสั่งของกรรมการและผู้ถือหุ้นที่ทุจริตที่ถูกจับอยู่ภายในเรือนจำในคดีจ้างวานฆ่าและยังคงได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนตามปกติ เป็นเหตุทำให้ผู้เสียหายที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่สามารถเข้ามาดำเนินกิจการภายในบริษัทได้ เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของกลุ่มทหารที่เข้ามาบริหาร อยู่ภายในบริษัท จนนำมาสู่การเปิดปฎิบัติการสนธิกำลังระหว่าง เจ้าหน้าที่ กก.3 บก.ปอศ. และชุดปฏิบัติการพิเศษ(หนุมาน) เข้าดำเนินการตรวจค้นบริษัทดังกล่าว
ผลการตรวจค้น พบเอกสารเกี่ยวกับบัญชีซื้อขายและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจระหว่างบริษัทเดิมกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะการปลอมแปลงเอกสารทางบัญชี, งบการเงิน, รายงานการประชุม ขึ้นมาเพื่อเป็นการถ่ายโอนทรัพย์สิน โดยระหว่างตรวจค้นพบกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทใหม่จำนวนหลายราย เข้ามาบริหารงานในบริษัทเดิม ในลักษณะว่าจ้างเป็นที่ปรึกษา โดยที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดไม่ได้ยินยอมให้มีการว่าจ้าง ระหว่างตรวจค้นพบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายรายอยู่แต่ละแผนกของบริษัท เช่น ฝ่ายบัญชี, ฝ่ายการผลิต และฝ่ายบริหาร เป็นต้น โดยหลังตรวจค้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ. ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป
เตือนภัย กก.3 บก.ปอศ. ขอแจ้งเตือนบริษัทหรือผู้ถือหุ้น และพนักงานที่มีตำแหน่งเฉพาะในการบริหารงานธุรกิจในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ต้องดำเนินการในธุรกิจให้สุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ควรดำเนินการปลอมแปลงเอกสารต่างๆ เช่น รายงานการประชุม ,การตกแต่งบัญชี เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. ๒๔๙๙ , พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 และประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องระวางโทษทั้งจำคุกและปรับ ตามจำนวนกรรมที่กระทำผิด
ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ นครบาล รายงาน