พรรคประชาชนยืนยัน แก้ รธน. รายมาตรา-ทั้งฉบับ “ทำพร้อมกันได้” ไม่ต้องเลือก เดินหน้าเสนอแก้ไข รธน. 7 แพ็กเกจ เพื่อผลประโยชน์ประชาชน
วันที่ 26 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีพรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในหลายแพ็กเกจสำคัญ คู่ขนานพร้อมกับการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยพริษฐ์กล่าวว่า พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า 2 เส้นทางแบบคู่ขนาน นั่นคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับอีกเส้นทางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน
แต่เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อทำให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อน ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาชนได้นำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามาโดยตลอด โดยแบ่งชุดประเด็นออกเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่
แพ็กเกจที่ 1 “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ซึ่งได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1.1) ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับ คสช. ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะร่างขึ้นโดยมีคณะรัฐประหารเข้ามากำกับควบคุมตลอดกระบวนการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง ขาดความยืดหยุ่นเพราะใช้วิธีบรรจุกลไกเรื่องยุทธศาสตร์เข้าไปในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนนำไปสู่การขยายตัวของรัฐราชการ อีกทั้งยังเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งกัน เพราะเปิดช่องให้มีการลงโทษหน่วยงานรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ
โดยแนวทางการแก้ไขในส่วนนี้ คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นไปตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
1.2) ทลายเกราะคุ้มกันประกาศและคำสั่ง คสช. ด้วยการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของ คสช. และหัวหน้า คสช. ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่ง คสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศและคำสั่งนั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1.3) ป้องกันการรัฐประหารด้วยการเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร (เช่น คุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจจากประชาชน) เพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันทางการเมืองในการร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร (เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร) และเพิ่มราคาสำหรับผู้ก่อการรัฐประหาร (เช่น ห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องผู้ก่อการรัฐประหารฐานกบฏได้โดยปราศจากอายุความ ทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอด ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่ในอนาคต)
แพ็กเกจที่ 2 “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ประกอบด้วย
2.1) ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เพราะถึงแม้จริยธรรมจะเป็นเรื่องนามธรรมที่แต่ละบุคคลตีความไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดในการนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม และมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม
ในเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมีกระบวนการได้มาซึ่งยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง การผูกขาดอำนาจเรื่องจริยธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาค การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ และการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง
ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอกย้ำว่าสังคมมองว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่วันนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรไม่กล้าแต่งตั้งเพราะกลัวขัดจริยธรรม แต่รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชากลับแต่งตั้งได้โดยไม่ลังเลและไม่นำไปสู่ปัญหาใดๆ
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขประเด็นนี้ พรรคประชาชนจึงเสนอให้แยกกลไกตรวจสอบเรื่องจริยธรรมออกมาจากกลไกตรวจสอบเรื่องการทุจริตซึ่งมีนิยามและความรับผิดรับชอบทางกฎหมายอย่างชัดเจน ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร และกำหนดให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตนเอง รวมถึงยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีจริยธรรม
2.2) ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องการจัดตั้ง การเติบโต และการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้พรรคการเมืองพัฒนาไปเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความยึดโยงกับประชาชน
พรรคประชาชนจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.ป. พรรคการเมือง เพื่อทำให้พรรคการเมืองเกิดง่ายจากการรวมตัวกันของประชาชนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน (เช่น ลดเงื่อนไขเรื่องทุนประเดิมและธุรการเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ อำนวยความสะดวกประชาชนในการสมัครสมาชิก) ทำให้พรรคการเมืองดำรงอยู่ได้ทางการเงินจากการสนับสนุนของประชาชนในวงกว้าง (เช่น ปลดล็อกให้ระดมทุนจากประชาชนและผู้บริจาครายย่อยได้ง่ายขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่าย) และทำให้พรรคการเมืองตายยากโดยการทบทวนฐานความผิดและอัตราโทษให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วน (เช่น ปรับโทษการยุบพรรคเป็นการลงโทษกรรมการบริหารรายคณะหรือรายบุคคลที่กระทำผิด)
แพ็กเกจที่ 3 “เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต” ประกอบด้วย
3.1) ป้องกันการสมคบคิดกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 236 ระบุว่า หากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเพื่อร้องเรียนต่อประธานรัฐสภาว่า ป.ป.ช. ใช้อำนาจโดยมิชอบ ประธานรัฐสภามีสิทธิในการใช้ดุลยพินิจกลั่นกรองก่อนว่าควรดำเนินการให้มีการไต่สวนหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลและ ป.ป.ช. สมคบคิดกันเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ประธานรัฐสภา (ซึ่งมักเป็น สส. จากฝั่งรัฐบาล) ก็สามารถใช้อำนาจปัดตกทุกข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ได้
พรรคประชาชนจึงเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของกลไกการเข้าชื่อร้องเรียนกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยการตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนตามข้อร้องเรียนหรือไม่ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นแค่ทางผ่านในการส่งทุกเรื่องร้องเรียนไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
3.2) เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมืองแบบช่องทางเร่งด่วน (Fast-track) เพราะที่ผ่านมาถึงแม้ประชาชนจะมีอำนาจในการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่แล้ว แต่หลายครั้งการดำเนินการของ ป.ป.ช. มักใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็น พรรคประชาชนจึงเสนอเพิ่มอำนาจให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อร้องเรียนนักการเมืองที่กระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและไต่สวนให้เสร็จภายใน 180 วัน
3.3) ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่างโปร่งใส (Open Data) เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้อย่างโปร่งใสเท่าที่ควร พรรคประชาชนจึงเสนอให้ปรับมาใช้หลักการว่าข้อมูลรัฐต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด รัฐต้องให้เหตุผลที่สมควรเท่านั้น เช่น เป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องเป็นความลับหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลรัฐในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน เช่น เป็นไฟล์ที่อ่านได้ด้วยคอมพิวเตอร์ (Machine Readable)
3.4) เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้เปิดโปงการทุจริต (Whistleblower Protection) เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนหลายคนที่รับรู้เรื่องการทุจริตอาจจะยังไม่กล้าแจ้งเบาะแสหรือเปิดโปงการทุจริต เพราะกังวลต่อความปลอดภัยหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเอง พรรคประชาชนจึงเสนอให้เพิ่มสิทธิของประชาชนในการได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ในกรณีที่เปิดเผยหรือชี้แจงเบาะแสการทุจริตของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานรัฐ
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน