ทนายธรรมราช ร้องตรวจสอบ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ หลังอดีตภรรยาเคยถูกดำเนินคดี ติดใจ รอง ผอ. ถึงไม่โดนด้วย ตั้งข้อสงสัย ทรัพย์สินที่โดนยึดมาอยู่ที่ไหน

ทนายธรรมราช ร้องตรวจสอบ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ หลังอดีตภรรยาเคยถูกดำเนินคดี ติดใจ รอง ผอ. ถึงไม่โดนด้วย ตั้งข้อสงสัย ทรัพย์สินที่โดนยึดมาอยู่ที่ไหน

วันที่ 25 ก.ย.67 ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. นายธรรมราช สาระปัญญา ทนายความ เดินทางเข้าพบ พงส.บก.ปปป. นำข้อมูลหลักฐานร้องให้ตรวจสอบ เกี่ยวกับสำนักงานพระพุทธศาสนา 3 ประเด็น

1.)ผอ.สำนักพุทธฯ แต่งตั้งบุคคลมาเป็นรอง ผอ.สำนักพุทธฯ เมื่อ ก.ค.นี้ ทั้งที่ภรรยาตัวเองถูกดำเนินคดีเงินทอนวัดเมื่อปี 2563เหตุใดจึงยังมานั่งเก้าอี้ รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ได้ ทั้งที่ภรรยามีความผิดเป็นที่ประจักษ์

2.)ได้ยึดทรัพย์ในคดีเงินทอนวัดดังกล่าวคืนมาหรือยัง ?

3.)ทำไมถึงไม่ดำเนินคดี รอง ผอ.รายนี้

ทนายธรรมราช เปิดเผยว่า ตนต้องการให้ตำรวจ บก.ปปป. ดำเนินการตรวจสอบสำนักงานพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกรณีเมื่อปี 2561 ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำสั่งพิพากษาจำคุกอดีตภรรยาของ นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี (ผอ.พศจ.ปทุมธานี) ในขณะนั้น เป็นเวลา 20 ปี พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย 12 ล้านบาท โดยทนายธรรมราชตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมนายบุญเชิดถึงไม่ถูกดำเนินคดีด้วย อีกทั้งทรัพย์สินที่อดีตภรรยามีร่วมกับนายบุญเชิดถูกยึดไปแล้วหรือไม่ รวมทั้งการที่ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา แต่งตั้งให้นายบุญเชิดเข้ามาเป็น รองผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนานั้นได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติหรือไม่ จึงอยากนำหลักฐานมาให้ตำรวจสอบสวนกลางดำเนินการตรวจสอบ

นอกจากนี้ทนายธรรมราชยังบอกอีกว่า เรื่องนี้มีมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้าน แต่ทำไมสังคมไม่มีใครพูดถึง ต่างจากคดีของครอบครัวเชื่อมจิตที่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเอาผิดเพียงแค่ 5 คน มูลค่าความเสียหายรวมกันประมาณ 50,000 บาท สังคมกลับพูดถึงและสนใจเรื่องนี้กันมากกว่า

ขณะที่นายประพันธ์ุ กิตติฤดีกุล เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า เหตุผลที่ตนขอใช้คำว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีเงินทอนสำนักพุทธฯ เนื่องจากตนได้รับข้อมูลมาว่า เมื่อปี 2561 ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ในขณะนั้นได้มีการลงไปสอบถามวัดต่าง ๆ ว่าขาดเหลือเงินในการซ่อมบำรุงวัดเท่าไร จะเอางบประมาณมาให้ แต่มีข้อแม้ว่าให้ทางวัดแจ้งว่าขาดเงิน 20 ล้านบาท โดยคนในสำนักพุทธฯ อ้างกับทางวัดว่า จะเอามาให้แค่ 5 ล้านบาท ส่วนอีก 15 ล้านบาท จะเก็บไว้ให้วัดอื่น ๆ ซึ่งทางวัดด้วยความที่เชื่อใจและเห็นว่าเป็นคนจากสำนักพุทธฯ ลงมาพูดคุยเองจึงเซ็นยินยอมให้ไป โดยที่ไม่รู้ว่าเงินส่วนต่างอีก 15 ล้านบาทนั้น ถูกคนในสำนักพุทธฯ ทุจริตไป จึงขอใช้คำว่า "เงินทอนสำนักพุทธฯ ไม่ใช่เงินทอนวัด"

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ