พรรคประชาชน แนะ กทม. เปิดสาธารณะความเห็นประชาชนต่อร่างผังเมืองรวม อย่าด่วนส่งมหาดไทย
วันที่ 9 กันยายน 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 สส.พรรคประชาชน นำโดย ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 21, ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 และ ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพฯ เขต 18 ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง 2562 ภายหลังเสร็จขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งอดีตพรรคก้าวไกลต่อเนื่องถึงพรรคประชาชนได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง
ณัฐพงศ์กล่าวว่า ขั้นตอนและกระบวนการในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 18 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 5 คือการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งพวกเรา สส.กทม. พรรคประชาชนรู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนทำให้ประชาชนให้ความสนใจอย่างมากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้กรุงเทพฯ ตัดสินใจขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปอีก 6 เดือน และมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจนครบ 50 เขต
โดยจากการเข้าร่วมสังเกตการณ์เวทีรับฟังความคิดเห็นในเขตต่างๆ พบว่ามีทั้งสิ่งที่ดีขึ้นและสิ่งที่ควรปรับปรุง เช่น มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ไม่รวบรัดขั้นตอน และไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงมีเอกสารประกอบให้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตามเวทีรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ยังมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย เพียง 20-30 คน ประชาชนที่รับทราบอยู่ในวงจำกัด และอาจมีเนื้อหาที่เข้าใจได้ยาก กทม. จึงควรสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีหลายประเด็นในเชิงเนื้อหาที่ประชาชนเรียกร้องจนน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น กรณีการขยายถนนสาย ก. (ขนาดเขตทาง 12 เมตร) และสาย ข. (ขนาดเขตทาง 16 เมตร) ที่ปรากฎตามร่างผังโครงการคมนาคมขนส่งมานานหลายปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าและมีแนวโน้มว่าไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ยังคงปรากฎในผัง ทำให้พี่น้องประชาชนกังวลใจว่าคนที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือมีที่พักอาศัยในบริเวณที่เป็นถนน จะถูกรอนสิทธิ์หรือเวนคืนหรือไม่ ต่อมาผู้แทนจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. ได้ยืนยันในทุกเวทีแล้วว่าจะมีการยกเลิกการขยายถนนสาย ก. และสาย ข. ที่ประชาชนไม่เห็นด้วย และจะไปปรับปรุงโครงข่ายในบริเวณที่สามารถพัฒนาได้จริงแทน
อีกกรณีคือแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ พื้นที่สีขาวและมีกรอบกับเส้นทแยงสีเขียว หรือเรียกว่า “พื้นที่เขียวลาย” เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมในฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก เช่น เขตหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ที่เดิมถูกออกแบบไว้เป็นพื้นที่รับน้ำ ก็ได้ทราบว่า กทม. กำลังพิจารณาลดขนาดความกว้างของพื้นที่เขียวลาย จากเดิม 5 กิโลเมตร เหลือ 1 กิโลเมตร และเปลี่ยนไปใช้คลองและท่อในการระบายน้ำมากขึ้น เนื่องจากผู้แทนของ กทม. เคยให้ข้อมูลว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่ได้ใช้ในการรับน้ำอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. จะต้องนำความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทั้งหมดไปประมวลผลเพื่อปรับปรุงร่างฯ และนำเข้าสู่การพิจารณาของชั้นคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม รับฟังความคิดเห็นจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดต่อไป
หลังจากนั้นในขั้นตอนที่ 10 ประชาชนจะได้เห็นร่างผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงในขั้นตอนการปิดประกาศ 90 วัน เราจะได้เห็นว่าความเห็นของประชาชนถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงร่างฯ หรือไม่ นี่จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ฉบับนี้ จึงขอให้ร่วมกันติดตามเรื่องนี้ต่อไป
จากนั้นศุภณัฐกล่าวว่า ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น มีประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นอย่างล้นหลามประมาณเป็นหมื่นความเห็น ถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ต่อการจัดทำผังเมืองในอนาคต อย่างไรก็ดี สิ่งที่พรรคประชาชนขอเรียกร้องไปยังกรุงเทพมหานครต่อจากนี้ คือเรื่องการเปิดเผยความเห็นทั้งหมดของประชาชน พร้อมทั้งการให้เหตุผลว่าความเห็นที่มีการนำเสนอนั้นเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และได้มีการนำไปปฎิบัติตามหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญกรุงเทพมหานครต้องนำร่างฯ ใหม่มาให้ประชาชนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนส่งร่างฯ ไปยังขั้นต่อไป เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพรวมว่าผังเมืองที่มีการปรับแก้ไขนั้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่ประชาชนแสดงความเห็นไว้หรือไม่
ขอให้กทม.อย่าเพิ่งรีบส่งร่างให้มหาดไทย ขอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พิจารณาและแสดงความเห็นอย่างถี่ถ้วนก่อนเพราะเมื่อส่งร่างผังเมืองให้มหาดไทยแล้ว โอกาสในการแก้แทบเป็นไปไม่ได้” ศุภณัฐกล่าว
สส.กรุงเทพฯ เขต 9 กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องในแง่หลักการการทำผังเมืองรวมที่อยากเชิญชวนประชาชนร่วมกับจับตา และพรรคประชาชนขอเรียกร้องความชัดเจนจาก กทม. ไม่ว่าจะเป็น (1) ผังสีขาว ซึ่งเป็นที่ดินทหาร ที่ไม่มีกฎหมายผังเมืองไปกำกับ เสมือนว่าเป็นรัฐอิสระ จะทำอะไรก็ได้ อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง ต่างจากที่ดินของพี่น้องประชาชนที่กำหนดชัดเจนว่า ให้ทำอะไรได้หรือไม่ได้ ทางเราทราบมาว่าทหารไม่ได้ติดขัดถ้าจะมีกฎหมายไปกำกับ จึงขอทราบความชัดเจนจากกรุงเทพฯ ว่าที่ดินผังสีขาวของทหารจะต้องให้อยู่ใต้ผังเมือง ได้หรือยัง
(2) ผังที่โล่ง ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่สาธารณะประโยชน์เพื่อการนันทนาการและการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่พบว่ามีการนำสนามกอล์ฟของเอกชนที่มีการเก็บค่าบริการมาใส่ในผังที่โล่งด้วย ซึ่งขัดกับเจตนารมย์ การทำผังเมือง ทาง กทม. จะปรับแก้หรือไม่ (3) ผังสีเขียวลาย แม้มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า กทม. จะลดพื้นที่ทางน้ำไหลผ่าน (floodway) แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เหลืออยู่ ต้องการความชัดเจนว่า กทม. จะมีกลไกอย่างไรในการดูแลประชาชนที่ถูกรอนสิทธิ์อยู่ในพื้นที่
(4) ตรรกะในการปรับผังสีแดงที่ให้มี FAR (Floor to Area Ratio) หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน สูงขึ้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในหลักการ บางแปลงมีการปรับอย่างเฉพาะเจาะจง และ กทม. ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเลือกปรับแปลงนี้ ในขณะที่แปลงติดกันหรือแปลงที่มีคุณสมบัติเหมือนกันในทำเลเดียวกัน กลับปรับให้ไม่เท่ากันหรือไม่ได้รับการปรับ นอกจากนั้นที่ดินบางแปลงยังบังเอิญไปตรงกับที่ดินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ จึงอดคิดไม่ได้ว่าอาจมีรายการ “คุณขอมา” หรือไม่
(5) ผังสีน้ำเงิน ซึ่งสงวนไว้ทำสถานที่ราชการ แต่กลับปรับผังสีน้ำเงินเปลี่ยนเป็นสีแดง เพื่อเตรียมนำที่ดินของรัฐเหล่านั้นไปให้ใครบางคนมาทำกิจการบางอย่างหรือไม่อย่างไร อยากให้ กทม. ชี้แจงเหตุผลในการปรับ และควรแจ้งประชาชนให้ทราบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ พรรคประชาชนไม่ได้คัดค้านการนำที่ดินของภาครัฐบางแห่งมาทำกิจการเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ แต่สิ่งที่เราสงสัยคือประชาชนรับทราบการกระทำเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ ได้มีการแจ้งประชาชนหรือไม่ และการปรับตรงนี้จะปรับเพื่อเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่
“ทำไมกลุ่มทุนบางกลุ่มมีการขยับตัวต่อบางพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ทำไมพวกเขาถึงรู้ล่วงหน้าหรือมั่นใจว่าจะมีการปรับผังในลักษณะนี้ มีการคุยกันหลังบ้านมาก่อนหรือไม่ หรือมีประชาชนคนไหนเรียกร้องหรือว่าอยากให้ที่ดินของราชการตรงนี้ลดน้อยลงแล้วเปลี่ยนเป็นที่ดินเชิงพาณิชย์มากขึ้น หรือส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องของกลุ่มทุนเป็นหลัก” ศุภณัฐตั้งคำถาม
(6) มีที่ดินหลายแปลงอยู่ในแนวที่จะถูกเวนคืนทำถนนและสะพาน แต่แนวนี้มีมานานแล้ว ไม่มีการทำเสียที อาจติดปํญหาเรื่องงบประมาณ หรือการจัดลำดับความสำคัญ ทำให้ประชาชนเจ้าของที่ดินไม่สามารถทำอะไรกับที่ดินได้ เพราะเกรงว่าจะมีการเวนคืน ในขณะที่คนจะซื้อก็ไม่กล้าซื้อเพราะกลัวซื้อแล้วจะถูกเวนคืน
(7) เรื่องการปรับ FAR Bonus (มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) ให้เจาะจงในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ตอบสนองต่อปัญหาในแต่ละพื้นที่และตรงกับความต้องการของประชาชน ซึ่ง กทม. ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับอย่างไร (8) ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท มีความผิดปกติหรือไม่สมเหตุสมผล เช่น การอนุญาตสร้างโรงแรมหรือสร้างสำนักงานในผังสีน้ำตาล ซึ่งหลายผังสามารถสร้างได้มากกว่าผังสีแดงบางผังด้วยซ้ำ หรือการกำหนดให้สร้างโรงงานขยะในผังสีเหลือง หรือการให้สร้างแพลนปูนในกรุงเทพฯ
และ (9) การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกิจการหรืออาคารบางประเภทให้มีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตีขลุม เนื่องจากมีหลายกิจการที่ถูกจัดอยู่ในประเภทพาณิชย์ แต่ประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นพาณิชย์อะไร เช่น สถานบริการ หรือบางกิจการที่อาจสร้างข้อถกเถียงในสังคมในอนาคตขึ้นได้ถ้ามีการออกใบอนุญาต จึงขอให้กทม. ประสานกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อทราบว่าจะมีการอนุญาตกิจการเหล่านี้หรือไม่ หากมี ขอให้จัดประเภทใหม่และใส่ในร่างผังเมืองให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสร้างความชัดเจนให้ประชาชนในพื้นที่
ต่อมา ธีรัจชัยกล่าวว่า การจัดทำผังเมืองรวม กทม. ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเริ่มทำผังเมืองใหม่ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง 2562 แต่เป็นการนำร่างผังเมืองที่จัดทำตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งยังมีองค์ประกอบไม่ครบ นำเอามา “ล้างน้ำ” และรับฟังความคิดเห็นใหม่ ซึ่งการทำเช่นนี้อาจคลาดเคลื่อนต่อหลักการของ พ.ร.บ.ผังเมือง 2562 โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่ระบุว่าก่อนการจัดทำผังเมือง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง เพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบและแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นการนำร่างผังเมืองเก่ามารับฟังความเห็นทันที นี่คือข้อผิดปกติ
ในการรับฟังความคิดเห็นที่ได้ไปสังเกตการณ์ มักจะเอาข้อดีของผังเมืองที่ทำสำเร็จรูปมาแล้วให้ประชาชนฟังและให้รายละเอียดที่เป็นเทคนิคซับซ้อน กลายเป็นพิธีการการรับฟัง โดยไม่มีการพูดถึงผังเมืองที่ดีว่าควรเป็นอย่างไร ไม่มีกรอบแนวความคิดเรื่องการสร้างเมืองระยะยาวที่น่าอยู่สำหรับคนทุกคน ทำให้เป็นที่สงสัยว่าร่างผังเมืองนี้เอื้อประโยชน์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เมืองเพื่อคนทุกกลุ่มหรือไม่
ธีรัจชัยกล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาชนโดยทีมผังเมืองกำลังร่างกฎหมายผังเมือง โดยจะเริ่มจากการวางแนวคิดการทำผังเมืองที่ดีก่อน ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากหลายเมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบสาธารณูปโภคที่มีความเป็นธรรม รักษาสมดุลกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นค่อยลงรายละเอียดให้ประชาชนแสดงความเห็น พร้อมกันนี้ พรรคประชาชนจะติดตามตรวจสอบการจัดทำร่างผังเมืองรวมของ กทม. ต่อไป เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองของทุกคน
ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ นครบาล รายงาน