ไข้หวัดใหญ่ ระบาดหนัก ยอดป่วยพุ่ง 23,000 เสียชีวิตแล้ว 8 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) เปิดเผยว่า กลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ประเทศไทย ปี 2567 ประจำสัปดาห์ที่ 33 (18–24 สิงหาคม 2567) ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึง 24 ส.ค. 2567 มีรายงานผู้ป่วย 442,320 ราย อัตราป่วย 681.41 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 36 ราย ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นสายพันธุ์ A จำนวน 32 ราย , สายพันธุ์ B จำนวน 2 ราย และไม่ระบุสายพันธุ์ จำนวน 2 ราย นอกจากนี้ผลการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่และเชื้อสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ของกองระบาดวิทยา ยังพบอีกว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สัดส่วนการตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เป็น Influenza A H1N1 (อ่านว่า อินฟลูเอ็นซ่า เอ เอชวัน เอ็นวัน) และกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง (SARI) ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งมีมากถึง 53.4 %
อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบการตรวจพบเชื้อจำแนกตามกลุ่มอายุ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มี “อาการรุนแรง” ที่ต้องได้รับไว้ในโรงพยาบาล พบว่า ผู้ที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อซาร์ส โคโรน่าไวรัส 2 หรือ SARs-CoV2 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุน้อยกว่า 5 ปีเช่นกัน ซึ่งกลุ่มอายุนี้ยังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันน้อย สำหรับพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 มี 4 จังหวัดอีสานล่าง ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมาได้รายงานสถานการณ์ทางระบาดวิทยา โรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2567 ล่าสุดว่า
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 2 กันยายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 45,553 ราย และเสียชีวิตสะสม 10 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่มากสุด โดยมีผู้ป่วยสะสม 23,368 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 8 ราย , จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 8,129 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต , จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 7,031 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 7,025 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทั้งนี้กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดได้แก่ กลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 4 ปี และ กลุ่มอายุ 3 ปี ตามลำดับ ซึ่งยอดผู้ป่วยในช่วงนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นประชาชนต้องดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันตนเอง เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจได้ง่าย ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด และโรคโควิด 19 เป็นต้น ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ด้วยมาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” 1.ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอจาม หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาดหลังสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร ปุ่มกดลิฟต์ 3.เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และ 4.หยุดเรียน หยุดงาน หรือหยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้จะป่วยมีอาการไม่มาก ก็ให้รีบเข้ารับการรักษา ก่อนอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายปกติ ที่สำคัญ ในกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มเสี่ยงสูง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ เพื่อไม่ให้ป่วยรุนแรง โดยหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422