เคาะเพิ่มอีก 1 เส้นทางรถไฟฟ้า Monorail สายสีม่วง ทัพพระยา -พัทยาใต้- หนองปรือ หวังรองรับความเจริญเติบโต
ที่ โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่ พัทยา กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ในรูปแบบรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 เมืองพัทยา ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียรถไฟฟ้า สายสีม่วง ครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศ) โดยมี นายพุฒิเศรษฐ เจริญพจน์ ผู้อำนวยการส่วนการจราจรและขนส่งเป็นประธานเป็นการประชุมฯ พร้อมด้วย นายจาดูร แผ่นสุวรรณ ผู้จัดการโครงการฯ และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ จำนวนมาก
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลประชุมเพื่อสรุปผลการคัดเลือกแนวทาง รูปแบบที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะต่อมาตรการต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงให้มีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
โดยผลการศึกษาได้สรุปแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งจะมีจุดเริ่มต้นที่ ทัพพระยา -พัทยาใต้- หนองปรือ ระยะทาง 11.44 กิโลเมตร โดยแบ่งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงในการดำเนินการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะก่อสร้างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว S1-01 ไปตามถนนพรประภานิมิตร เลี้ยวขวาเข้าซอยพรประภานิมิตร 26 สิ้นสุดที่บริเวณถนนหนองไม้แก่น และระยะที่ 2 จะก่อสร้างจากสถานีรถไฟฟ้าสีเขียว S1-01 ตัดข้ามทางรถไฟและถนนสุขุมวิท เข้าใช้แนวเส้นทางถนนพัทยากลาง เลี้ยวซ้ายใช้แนวเส้นทางถนนพัทยาสาย 3 สิ้นสุดที่แยกทัพพระยา และรถไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบระบบไฟฟ้ารางเดี่ยว ซึ่งการออกแบบโครงการสายสีม่วง ทัพพระยา -พัทยาใต้- หนองปรือ ฯ จะเป็นระบบขนส่งสาธารณะระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่มีความเหมาะสมสำหรับเมืองพัทยา แม้จะมีข้อด้อยเรื่องต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าบำรุงที่ค่อนข้างสูง แต่โครงสร้างทางวิ่งยกระดับมีผลกระทบกับการจราจรน้อย มีลักษณะที่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ของเมืองพัทยา สอดคล้องกับบริบทของเมืองพัทยาท่องเที่ยวและดึงดูดให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง
ทั้งนี้ในส่วนของสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีจำนวน 12 สถานี โดยตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าจะกำหนดระยะห่างระหว่างสถานีอยุ่ที่ 800-1,000 เมตร โดยระยะเดินจะอยู่ที่ 400-500 เมตร ซึงในส่วนพื้นที่การดำเนินการเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีการโยกย้ายและการเวนคืนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นที่ดิน635 แปลง เนื้อที่ที่ถูกเขตทางประมาณ 64 ไร่ และอาคารสิ่งปลุกสร้าง จำนวน 461 รายการ สำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสรม่วงจะเป็นการลงทุนแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership ) ซึ่งหากจะดำเนินการแล้วจะเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับการจะเป็นเมืองหลักหรือศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวตามแผนของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ในอนาคต
ทีมข่าวสยามนิวส์ จังหวัดชลบุรี รายงาน