เตือน10วันล่วงหน้า มรสุมแรงขึ้น ฝนถล่มหนัก จับตาพายุโซนร้อน
เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.:(นับตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึงเวลา 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.)10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 3-12 ก.ย.67 init. 2024090212 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย : สัปดาห์นี้เตรียมรับมือฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ดังนี้
กรมอุตุฯ พยากรณ์ฝนสะสม 10 วันล่วงหน้า มรสุมกำลังแรงขึ้น เตือน ฝนตกหนักหลายพื้นที่ อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อนล่าสุด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 3-7 ก.ย.67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) ที่พัดปกคลุม มีกำลังแรงขึ้น ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางและภาคอีสานตอนล่าง และมียังมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคอีสานตอนล่างภายใต้ร่องมรสุม
จึงทำให้มีการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณใกล้ร่องมรสุมและด้านรับมรสุม โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นได้หลายพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้
โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคตะวันออก ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง ใช้รถใช้ถนนระยะนี้ต้องระวังฝนตกถนนลื่นเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ งานกลางแจ้งต้องเตรียมเต็นท์ ออกนอกบ้านควรพกร่ม ชาวเรือ ชาวประมงเดินเรือด้วยความระวัง เรือเล็กให้งดออกจากฝั่งช่วง 3-8 ก.ย.67 รายละเอียดต้องติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและเฝ้าระวัง อย่างใกล้ชิด
ช่วง 8-12 ก.ย.67 แนวโน้มของฝนบริเวณประเทศไทยจะน้อยลงบ้าง เว้นแต่ทางตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน ยังคงมีฝนตามแนวขอบของหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุ ปกคลุม สปป.ลาว ถ้าเป็นไปตามคาดการณ์ ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบนฝนจะเริ่มเบาลงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม เว้นแต่จะมีพายุเคลื่อนผ่าน อัปเดตสถานการณ์ล่าสุดพายุโซนร้อน “ยางิ” (YAGI)” ได้เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย
คาดว่าพายุนี้จะทวีกำลังแรงขึ้นอีกเมื่ออยู่ในทะเล และเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหลหลำ อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งที่ประเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย.67 และอาจจะอ่อนกำลังลงที่ สปป.ลาว ยังคงต้องติดตามเนื่องจากทิศทางของพายุยังมีปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ยังไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะช่วยดึงให้มรสุมที่พัดปกคลุมบ้านเรามีกำลังแรงต่อเนื่อง ส่วนฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในขณะนี้ยังมาจากมรสุม ร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ (ข้อมูลนี้ใช้เป็นแนวทางในการติดตามสภาพอากาศ ยังต้องติดตามด้วยข้อมูลจากผลการตรวจอากาศอื่นๆ ร่วมด้วย และข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)