ดร.ธรณ์วิเคราะห์ 4 ปัจจัย น้ำมาเร็วมาก พื้นที่เสี่ยงต้องเตรียมรับมือ
วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โลกร้อนทะเลเดือด ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและพายุ ที่น่าหวั่นใจคืออุณหภูมิน้ำทะเลยังไม่ค่อยลดลง น้ำร้อนระเหยมากขึ้น อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากขึ้น ทำให้เมฆมีไอน้ำมหาศาล ฝนปัจจุบันจึงหนักหนาสาหัส ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย
โลกร้อนยังทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ความผิดปรกติเกิดบ่อยขึ้น หมายถึงเราจะเจอกับภัยพิบัติอย่างคาดเดาได้ยาก เมืองไทยติด Top10 ของโลกในเรื่องความเสี่ยงจากน้ำท่วมเพราะโลกร้อน ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยตามอุณหภูมิโลกที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทะเลดูดซับและกักเก็บความร้อนไว้ 90% เมื่อเก็บไว้มากจนอั้นไม่อยู่ น้ำจึงร้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบมากขึ้น
ปกติเมื่อโลกเข้าสู่ลานินญา น้ำน่าจะเย็นลงบ้าง แต่อุณหภูมิน้ำทะเลในช่วงครึ่งปีแรกกลับสูงกว่าปีที่แล้ว จนอาจเป็นปีที่น้ำร้อนสุดในประวัติศาสตร์อีกครั้ง สำหรับเมืองไทย อุณหภูมิน้ำในฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต) สูงต่อเนื่อง แม้จะเย็นกว่าช่วงหน้าร้อน แต่ยังคงสูงกว่าปี 2566 ในช่วงเดียวกัน ทั้งที่ฝนตกฟ้าปิดที่ภูเก็ตบ่อยครั้ง ความผิดปกติของอุณหภูมิน้ำทะเล นอกจากทำให้ปะการังในอันดามันบางส่วนยังคงฟอกขาว ยังบ่งชี้ถึงความแปรปรวนของอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย
ในขณะเดียวกัน ผืนป่าบนขุนเขาที่เคยช่วยดูดซับน้ำ ลดความรุนแรงของดินถล่ม ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก น้ำจากภูเขาหัวโล้นไหลลงมาในหุบอย่างรวดเร็ว หลายสายย่อยมารวมกัน ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มขึ้นกระทันหัน เอ่อล้นทะลักออกมา น้ำมาเร็วมากจึงเกิดจาก
1.ทะเลเดือด ฝนหนักขึ้น
2.โลกร้อน สภาพภูมิอากาศแปรปรวน
3.ธรรมชาติหายไป น้ำยิ่งลงมาเร็ว
4.ระบบรองรับมาจากอดีต รับมือความผิดปกติในยุคนี้ได้ยาก
ทางออก คือ ดูความเสี่ยงจากฝนหนักน้ำท่วมดินถล่มรอบบ้านรอบชุมชน เตรียมรับมือ อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร เตรียมอาหารน้ำดื่มพอรับมือได้ช่วงหนึ่ง คิดถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไฟตัดน้ำท่วมออกไปไหนไม่ได้ ทำอย่างไร คิดถึงผู้ช่วยเหลือตัวเองได้ยาก คนแก่ เด็ก สัตว์เลี้ยง บ้านเราเพื่อนบ้าน ความช่วยเหลือมาแน่แต่อาจมาช้า เพราะทุกอย่างกระทันหัน ลองจำลองภาพเหตุการณ์และหาทางแก้ไปทีละเปลาะ จะได้เตรียมรับมือล่วงหน้า ติดตามข่าวตลอด สื่อโซเชียลยุคนี้เร็ว แต่ต้องตรวจสอบให้ดีว่าไม่ใช่ข่าวลวง ท้ายนี้ ดร.ธรณ์ ขอแสดงความเสียใจกับผู้ประสบภัยทุกท่าน