ขยายผลแก๊ง สคบ. ปลอมวิดีโอคอลหลอกโอนเงิน รวบสาวเอเยนต์บัญชีม้า สั่งลูกเลี้ยงพร้อมเพื่อนจัดหา แม่รอฟันส่วนต่าง 10 เท่า

ขยายผลแก๊ง สคบ. ปลอมวิดีโอคอลหลอกโอนเงิน รวบสาวเอเยนต์บัญชีม้า สั่งลูกเลี้ยงพร้อมเพื่อนจัดหา แม่รอฟันส่วนต่าง 10 เท่า

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีมิจฉาชีพโทรหาข้าราชการหญิงรายหนึ่ง แล้วแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. อ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผ่านเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าผู้เสียหายต้องไปยืนยันตนและปฏิเสธข้อกล่าวหากับทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเกิดความกลัว แต่ขณะนั้นผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ทำให้ไม่สะดวกเดินทาง มิจฉาชีพจึงแนะนำให้ผู้เสียหายทำการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางไลน์แทน

ต่อมา คนร้ายได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนกับบัญชีไลน์ชื่อ กองกำกับการปราบปรามการกระทำความผิดผู้บริโภค แล้วได้แชทสนทนากับคนร้ายที่แอบอ้างเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนพัวพันกับคดีฟอกเงิน จึงต้องโอนเงินให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตรวจสอบ จากนั้นได้ให้ให้ผู้เสียหายวิดีโอคอลคุยกับมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จาก ปปง. ผ่านทางวิดีโอคอล

จากนั้น มิจฉาชีพสั่งให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันชื่อ AMLO ที่ดาวน์โหลดผ่านทาง Google Chrome เมื่อติดตั้งสำเร็จ ได้ให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลและทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่แจ้ง สุดท้ายมิจฉาชีพได้ส่งหมายเลขบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อตรวจสอบ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไปจำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น จำนวน 631,273.83 บาท

ต่อมา มิจฉาชีพยังสั่งให้ผู้เสียหายกู้เงินจากแอปพลิเคชันบัตรสินเชื่อของธนาคารหนึ่ง ที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย แล้วโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผู้เสียหายเอง จำนวน 3 ครั้ง รวม 70,000 บาท จากนั้นมิจฉาชีพจึงหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินทั้งหมดในบัญชีที่เพิ่งได้มาให้ ปปง. ตรวจสอบทั้งหมดอีกครั้ง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อทำตาม สุดท้ายรวมยอดเงินที่ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนไปทั้งสิ้น จำนวน 701,273.83 บาท เมื่อรู้ตัวจึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาต่อมา

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา บช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการได้จำนวน 10 ราย โดยสามารถจับกุมตัวได้แล้วจำนวน 3 ราย

จากนั้น พ.ต.อ.อรุณณพันธ์ วานิช์ชานันท์ ผกก.4 บก.สอท.3 พร้อมทีมสืบสวนตำรวจไซเบอร์ ได้สืบทราบว่ามีผู้ต้องหาสำคัญของขบวนการซึ่งทำหน้าที่จัดหาบัญชีม้าให้ขบวนการดังกล่าวนำไปใช้งาน ได้เดินทางไปมา เพื่อกบดานอยู่ตามพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ จึงได้ลงพื้นที่เฝ้าติดตามสะกดรอย จนพบว่าผู้ต้องหาได้เข้าพักในห้องเช่าแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่

พ.ต.อ.อรุณณพันธ์ฯ พร้อมชุดสืบสวน จึงสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.ภ.5 นำหมายจับศาลจังหวัดมหาสารคาม ที่ จ.167/2567 ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 เข้าจับกุม น.ส.ทาริกา หรือ โม อายุ 32 ปี ได้ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ม.2 ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนว่าเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน

สมคบคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน และเป็นธุระจัดหาโฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด

เบื้องต้น น.ส.ทาริกา ยอมรับสารภาพว่าตนได้กระทำผิดจริง เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนเองไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง ทำให้มีรายได้น้อย ต่อมาได้มีผู้ชักชวนตนให้ทำหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมการ์ด อ้างว่านำไปใช้ขายหวยออนไลน์ โดยมีค่าตอบแทนจำนวน 5,000 บาทต่อบัญชี เมื่อเห็นว่ามีรายได้ดีตนจึงตกลงทำ

โดยตนจะสั่งให้ลูกเลี้ยงและเพื่อนๆ ของลูกเลี้ยง ไปตระเวนรับซื้อสมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตร ATM มาจากที่ต่างๆ ในราคา 500 บาทต่อบัญชี เมื่อได้มาแล้วตนจะรวบรวมส่งให้แก่คนร้ายทางพัสดุ จากนั้นคนร้ายก็จะส่งเงินสดค่าตอบแทนมาให้ตนทางพัสดุเช่นกัน แล้วจึงนำไปจ่ายส่วนแบ่งให้ลูกเลี้ยงและเพื่อนๆ ประมาณ 1,000–3,000 บาทต่อบัญชี ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าตนเพิ่งทำเพียงไม่ถึง 10 ครั้ง จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากพบหลักฐานว่าผู้ต้องหาเคยทำมาแล้วกว่า 30 ครั้ง จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.3 ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเร่งขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวกรุงเทพมหานคร ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ