สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเตือน 13 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วม 2 - 8 ส.ค. นี้ เนื่องจากมีฝนตกหนัก
เมื่อวันที่ 3ส.ค.67 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศ ฉบับที่ 9/2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและ สปป.ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง จะทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
สทนช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 2 – 8 สิงหาคม 2567 ดังนี้
1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ ภาคเหนือ -จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น แม่จัน ดอยหลวง เวียงเชียงรุ้ง พญาเม็งราย ขุนตาล เวียงชัย เทิง และแม่ลาว)
-จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย ฝาง เวียงแหง พร้าว และแม่ออน)
-จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า และสบเมย)
-จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่ระมาด และแม่สอด)
-จังหวัดลำปาง (อำเภอวังเหนือ และแม่ทะ)
-จังหวัดพะเยา (อำเภอภูซาง ปง เชียงคำ และดอกคำใต้)
-จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง สองแคว บ่อเกลือ ปัว ท่าวังผา สันติสุข และแม่จริม)
- จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง และลอง)
-จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และท่าปลา)
-จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-จังหวัดเลย (อำเภอเชียงคาน และปากชม)
-จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย ศรีเชียงใหม่ โพนพิสัย และรัตนวาปี)
-จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด พรเจริญ บุ่งคล้า โซ่พิสัย เซกา และบึงโขงหลง)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ดังนี้
-ลำน้ำงาว (อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย)
-แม่น้ำสาย (อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)
-แม่น้ำน่าน (อำเภอเมืองน่าน เวียงสา เชียงกลาง ภูเพียง และท่าวังผา จังหวัดน่าน)
-แม่น้ำยม (อำเภอสอง และหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ อำเภอปง จังหวัดพะเยา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก)
-ลำน้ำปาด (อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์)
-แม่น้ำแควน้อย (อำเภอนครไทย และวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
-ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
-ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและพนังกั้นน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
-เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
-ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์