ประกันสังคม ม.33-ม.39-ม.40 แจงสิทธิประโยชน์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีตายของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบกองทุนประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท
นอกจากนี้ ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย ในกรณีที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุชื่อให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับบุคคลที่มีชื่อระบุในหนังสือ
กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ ว่าให้ใครเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดามารดา สามีหรือภรรยา และบุตร โดยหารเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้
กรณีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คูณ 4
กรณีผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คูณ 12
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงสิทธิกรณีตายผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 และทางเลือก 2 สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าทำศพ 25,000 บาท และหากกรณีส่งเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตายจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายเพิ่มอีก 8,000 บาท สำหรับทางเลือกที่ 3 กรณีตาย จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ คือ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 ใน 12 เดือน ยกเว้น กรณีอุบัติเหตุมีการจ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพด้วย
ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทนได้ภายใน 2 ปี โดยผู้มีสิทธิสามารถนำหลักฐาน คือ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม สปส.2-01 และ สปส.2-01/ม.40 บัตรประชาชนของผู้จัดการศพ หลักฐานจากฌาปณสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ สำเนาใบมรณบัตร สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้จัดการศพ (กรณีรับเงินทางธนาคาร) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่ท่านสะดวก หรือโทรสายด่วน 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)