ผลกรณีศึกษาชี้ คนนอนดึกมีแนวโน้ม หัวดีกว่าคนตื่นเช้า แถมความจำยังดีกว่าด้วย

ผลกรณีศึกษาชี้ คนนอนดึกมีแนวโน้ม หัวดีกว่าคนตื่นเช้า แถมความจำยังดีกว่าด้วย

ต้องบอกว่าเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อทีมนักวิจัยจากสถาบันแห่งวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน เผยผลจากการศึกษาข้อมูลของประชาชนจำนวนมากกว่า 26,000 คนที่ได้จากธนาคารชีวภาพแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งผ่านการทดสอบต่าง ๆ แล้วพบว่า ทำคะแนนได้สูงด้านความเฉลียวฉลาด, เก่งกาจเรื่องการใช้เหตุผล, มีความทรงจำดีและมีปฏิกิริยาโต้ตอบเรื่องต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา

ซึ่งจากผลทดสอบดังกล่าว ทีมวิจัยได้ตรวจสอบข้อมูลด้านลักษณะนิสัยเกี่ยวกับการนอนหลับของผู้ทดสอบ พบว่า กลุ่มที่ชอบนอนดึกมาก ๆ (หลังตีหนึ่ง) และกลุ่มที่นอนดึก (หลังสี่ทุ่ม แต่ไม่เกินตีหนึ่ง) มีการทำงานของสมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาความคิดได้ดีกว่ากลุ่มที่ชอบตื่นเช้า ซึ่งได้คะแนนในส่วนนี้ต่ำที่สุด

โดยการเข้านอนดึก ๆ นั้นมีความเกี่ยวโยงอย่างมาก กับกลุ่มคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก เช่น ศิลปิน, นักเขียน, นักดนตรี มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กรณีศึกษาดังกล่าวยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่นอนหลับระหว่าง 7 - 9 ชม. จะทำคะแนนในการทดสอบสมองด้านการคิด ทำความเข้าใจและตัดสินใจได้สูงกว่าคนที่นอนน้อย

ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา

ทั้งนี้ ดร.ราฮา เวสต์ ผู้นำโครงการวิจัยนี้และสมาชิกทีมวิจัยระดับคลินิกของแผนกศัลยกรรมและโรคมะเร็งแห่งวิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน กล่าวว่า การทำความเข้าใจและบริหารจัดการวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของเราเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็มีอีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน คือ จะต้องดูแลตัวเองให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด

ในขณะที่ ศาสตราจารย์หม่าต้าชิง ผู้ร่วมโครงการวิจัยครั้งนี้ก็เสริมว่า ทีมงานได้พบว่าระยะเวลาการนอนหลับมีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง และเชื่อว่าการจัดรูปแบบการนอนหลับในเชิงรุกจะมีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริม รวมถึงปกป้องการทำงานของสมอง เพราะฉะนั้น ทางการควรจะวางนโยบายช่วยปรับรูปแบบการนอนหลับของประชาชนให้ดีต่อการทำงานของสมองยิ่งขึ้น

ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับผลการศึกษานี้ทั้งหมด แจ๊คกี ฮันลีย์ หัวหน้าฝ่ายทุนวิจัยขององค์กรวิจัยเพื่อโรคอัลไซเมอร์แห่งสหราชอาณาจักรแสดงความเห็นว่า ถ้าหากไม่มีภาพบอกรายละเอียดของการทำงานภายในสมอง ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าการนอนดึกหรือตื่นเช้ากันแน่ที่ส่งผลกระทบต่อความจำและการใช้สมองขบคิดเรื่องต่าง ๆ หรือ สมองที่ทำงานด้านการใช้ความคิดและความเข้าใจได้แย่ลง อาจจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการนอนให้เปลี่ยนแปลงไปก็ได้

ข้อมูล theguardian

เรียบเรียง siamnews

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ