จับเครือข่ายแก๊งคอลฯ อ้างเป็น สคบ. ตุ๋นข้าราชการหญิงเปื่อย โอนเงินกว่า 7 แสน

จับเครือข่ายแก๊งคอลฯ อ้างเป็น สคบ. ตุ๋นข้าราชการหญิงเปื่อย โอนเงินกว่า 7 แสน

สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 มี.ค.67 ได้มีมิจฉาชีพโทรหาข้าราชการหญิงรายหนึ่ง โดยแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. อ้างว่าผู้เสียหายได้นำบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดซิมการ์ดและบัญชีธนาคาร โดยข้อมูลดังกล่าวถูกนำไปเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจหลอกขายผลิตภัณฑ์ยาลดน้ำหนัก ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก

แล้วมิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายต้องไปยืนยันตน และปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเกิดความกลัว แต่ขณะนั้นผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ทำให้ไม่สะดวกเดินทาง มิจฉาชีพจึงแนะนำให้ผู้เสียหายทำการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางไลน์แทน

ต่อมา คนร้ายได้โอนสายให้สนทนากับ ร.ต.อ.มนูญ ซึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. หลังจากนั้น ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนกับบัญชีไลน์ชื่อ กองกำกับการปราบปรามการกระทำความผิดผู้บริโภค แล้วได้แชทสนทนากับ พ.ต.ท.ธีรภพ ที่แอบอ้างเป็นตำรวจ บก.ปคบ. ด้วยเช่นกัน โดย พ.ต.ท.ธีรภพแจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนพัวพันกับคดีฟอกเงิน จึงต้องโอนเงินให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. จากนั้นได้ให้ให้ผู้เสียหายวิดีโอคอลคุยกับมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จาก ปปง. ผ่านทางวิดีโอคอล โดยเจ้าหน้าที่ปลอมดังล่าวแจ้งว่าต้องมีการอายัดบัญชีธนาคารของผู้เสียหายจนกว่าจะทำการตรวจสอบทรัพย์สินเสร็จสิ้น

จากนั้น มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันชื่อ AMLO ที่ดาวน์โหลดผ่านทาง Google Chrome เมื่อติดตั้งสำเร็จ ได้ให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลและทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่แจ้ง สุดท้ายมิจฉาชีพได้ส่งหมายเลขบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อตรวจสอบ ผู้เสียหายหลงเชื่อคนร้ายจึงได้โอนเงินให้แก่คนร้ายจำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น จำนวน 631,273.83 บาท

ต่อมา มิจฉาชีพได้ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบแอปพลิเคชันบัตรสินเชื่อของธนาคารหนึ่งที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย แล้วหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินออกจากแอปดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารผู้เสียหายเอง จำนวน 3 ครั้ง รวม 70,000 บาท แล้วมิจฉาชีพจึงหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินในบัญชีจำนวนดังกล่าวไปให้ ปปง. ตรวจสอบทั้งหมด รวมยอดเงินที่ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนไปทั้งสิ้น จำนวน 701,273.83 บาท เมื่อรู้ตัวจึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาต่อมา

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา บช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ ได้หลายราย กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 พ.ต.อ.อรุณณพันธ์ วานิช์ชานันท์ ผกก.4 บก.สอท.3 ได้ส่งกำลังลงพื้นที่ พร้อมนำหมายจับของศาลจังหวัดมหาสารคาม เข้าติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 2 ราย

โดยสามารถจับกุม น.ส.อังคณา อายุ 31 ปี ได้ในพื้นที่ หมู่ 15 ต.สระขวัญ อ.เมือง จ.สระแก้ว และสามารถจับกุมนายชาญชัย อายุ 34 ปี ได้ในพื้นที่ หมู่ 10 ต.สระขวัญ อ.เมือง จ.สระแก้ว ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

และร่วมกันเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน,สมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน

จากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.3 ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเร่งขยายผลสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการที่ยังหลบหนี มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ