จับตา! ศาลรธน. เริ่มแล้ว ถกคดียุบก้าวไกล
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ก.ค.2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุม โดยมีวาระการพิจารณาคดีที่สำคัญ 3 คดี คือ คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง กก.บห. และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกก.บห. หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
โดยคดีนี้ เป็นการพิจารณาหลังจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ศาล มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ และได้แจ้งให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลและเลขาธิการกกต. เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามประเด็นที่ศาลกำหนด กลับมายังศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคดี รวมถึงกำหนดให้คู่กรณีเข้าตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ก.ค.2567 ดังนั้น
การพิจารณาในวันนี้ จึงต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำสั่งเกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาคดีนี้อย่างไรต่อไป ข้อเท็จจริงที่ได้เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยแล้วหรือยัง จะเปิดไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกลร้องขอหรือไม่ นอกจากนี้ยังพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ MOU 2544 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศนำ MOU 2544 มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชาเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์ของตนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 หมวด 3สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาตรา 25 และมาตรา 43 (2) หรือไม่
ส่วนคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา 40 คนขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ(5) หรือไม่ จากเหตุนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลกำหนดยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยและได้กำหนดที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อในวันที่ 10 ก.ค.นี้