ชาวเน็ตดูแล้วเอ๊ะทำไมคุ้นๆ ดรามาชุดอุ๊งอิ๊งค์ ใส่ขึ้นเวทีงาน ซอฟต์พาวเวอร์ 2024
จากกรณีโลกออนไลน์แห่วิพากษ์วิจารณ์ ชุดของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่สวมใส่ชุดผ้าไหม ขึ้นเวทีในงาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024
โดยเฉพาะเพจเฟซบุ๊กชื่อ Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล”ของนาง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ภาพ น.ส.แพทองธาร ที่สวมใส่ชุดผ้าไหมในงานดังกล่าว พร้อมข้อความระบุว่า เปลี่ยนตัวดีไซเนอร์ด่วน!! งาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024
และยังมีชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับชุดดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดเป็นกระแสดรามาขึ้น จนดีไซเนอร์ที่เป็นคนออกแบบชุดดังกล่าวต้องออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายความหมายของแต่ละส่วนในการทำงานออกแบบเสื้อตัวนี้ตามโจทก์ที่ได้รับ คือการนำเอาผ้าเอกลักษณ์ของชาวอีสานมาผสมผสานกันเป็นเกิดเป็นชุดนี้ขึ้นมา
ทั้งนี้ ธรากร คำทอน อายุ 27 ปี ดีไซเนอร์ทำแบรนด์ผ้าไหม ร่วมกับชุมชน อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองเป็นผู้ออกแบบ และตัดเย็บเอง โดยเลือกผ้าจากในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและทั่วภาคอีสาน โดยได้รับโจทก์การทำมา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ตนเองสำเร็จการศึกษามา
โดยโจทก์ที่ได้รับนั้นคือ อยากได้เป็นธีมชุดผ้าจากภาคอีสานทั้งหมด ส่วนตัวพยายามมองถึงลักษณะเด่นการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าผ้าอื่นๆ จึงเล็งเห็น “ผ้าเบี่ยง” คือผ้าสไบเล็กๆ ที่พาดหน้าอกของชาวอีสานในหลายๆ กลุ่มชนในชาติพันธุ์หลายๆ ชาติก็จะมีการใช้ผ้าเบี่ยงที่แตกต่างกันออกไป เรารู้สึกว่าผ้าเบี่ยงเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกเฉพาะถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงอยากดึงเอาเอกลักษณ์นี้มาทำเป็นชุดที่อยากจะนำเสนอในรูปแบบอีสานสมัยใหม่มากขึ้นจึงออกมาเป็นชุดนี้
ในมุมของผู้ออกแบบกับคำว่าเอาผ้าขยะ หรือพรมเช็ดเท้ามาทำนั้น รู้สึกว่าเป็นคำที่หนักและแรงพอสมควร แต่เราไม่ได้นำเสนอในลู่ทางนั้น หรือแบบนั้น มองว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่หลากหลาย เราก็ไม่ได้ไปโฟกัส หรือให้ความสำคัญที่จุดนั้น เราจะให้ความสำคัญกับงานเราตามแรงบันดาลใจที่เรามีให้ได้มากที่สุด คงความเป็นอีสานให้ได้มากที่สุด โจทก์ที่ได้มาก็ค่อนข้างยาก เพราะมีทั้งผ้าไหม ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา และผ้าย้อมคราม ซึ่งผ้าแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะหรือการนำมาใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราก็อยากจะชูเอกลักษณ์ของผ้าทั้งหมดให้ออกมาได้อย่างครบถ้วน ซึ่งชุดที่ออกมานั้นก็จะมีเทคนิคที่เรียกว่าการแพ็คเวิร์ค ซึ่งใช้ผ้าไหมมัดหมี่ผสมกับผ้าคราม เพื่อให้ได้เป็นลักษณะของเส้นสาย หรือหมี่คั่นเหมือนผ้าถุงของชาวอีสานทับด้วยสไบแพรวา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานอีกครั้ง
ดีไซเนอร์ที่ออกแบบชุดดังกล่าวยังบอกอีกว่า ต้องขอขอบคุณชาวโซเชียล ทั้งให้กำลังใจเข้ามาชื่นชม และยังมีคำติที่เราขอน้อมรับไว้ เพื่อนำไปพัฒนาดีไซน์ต่อไปให้ออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ และขอบคุณแทนแม่ๆ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ทอผ้าไทย อยากให้ทุกคนมีกำลังใจ ที่หลายคนเห็นคุณค่าของผ้าทอไทย อยากจะให้สนับสนุนบุคคลเหล่านี้ด้วย
สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่างานดีไซน์มีหลากหลาย ถ้าเรามองเป็นกลางเราก็จะเจอสิ่งที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เพื่อให้ไปสู่สิ่งที่ดีได้นอกเหนือจากคำตำหนิหรือการด้อยค่า เพราะการทำงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาไม่ได้เริ่มแค่เราคนเดียว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ร่วมกับเราบางคนก็รับได้บางคนก็รับไม่ได้ แต่ส่วนตัวมองว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่ตัวเราเองทำขึ้นมาก็จะมีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ ซึ่งก็ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจ ทั้งสนับสนุน และติชมเข้ามาแต่ไม่ท้อจะขอทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชนต่อไป