ตัวแทนเหยื่อกว่า 10 ราย วอนล่าตัว จอมโจร 100 หมาย วางแผนขอซื้อนาฬิกาหรู ก่อนฉวยโอกาสฉกของเผ่นหนี มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความอื้อ!
วันที่ 23 มิ.ย. 67 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เพจสายไหมต้องรอด ซอยสายไหม 38 นางสาวนฤชล หรือดรีม นฤชาญภัทรัฐ อายุ 29 ปี เจ้าของธุรกิจขายนาฬิกา พร้อมกลุ่มผู้เสียหาย รวม 9 คน เดินทางมาขอปรึกษา นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด กรณีถูกมิจฉาชีพหลอกซื้อนาฬิกาก่อนฉวยโอกาสขอเลขแทร็คกิ้งส่งไรเดอร์รับสินค้าจากขนส่งหละหลวม มีผู้เสียหายหลายราย
นางสาวนฤชล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ตนโพสต์ขายนาฬิกา ฝนกลุ่มเฟซบุ๊กซื้อ-ขายนาฬิกา โดยโพสต์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม กระทั่งช่วงกลางคืนมีผู้ชายได้โทรศัพท์มาบอกว่าอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งปกติเวลาตนขายนาฬิกาทุกครั้งจะมีการนัดรับของกันตลอดเมื่อเช็คของเสร็จแล้วโอนเงินทันที แต่พอถึงช่วงเช้าได้โทรมาอีกครั้งอ้างว่าอยู่ไกล ซึ่งเป็นหลอกล่อให้ไปส่งของ ตนบอกไปว่าสามารถไปส่งของให้ได้ โดยนั่งเครื่องไปส่งให้ได้แต่ขอวางเงินมัดจำ 2,000-3,000 บาทเพื่อเป็นค่าตั๋ว เมื่อไปถึงจะหักรวมค่านาฬิกาคืนให้ โดยชายดังกล่าวทำเหมือนกลัวจะไม่ได้ของ และบอกให้ตนส่งของไปให้แทน ซึ่งตนก็ไม่โอเคกับการใช้ขนส่งเนื่องจากของมีมูลค่าสูง ตนจึงบอกว่าจะทำเอกสารเพื่อเซ็นต์รับทราบหากเกิดกรณีสิ่งของเสียหายจากทางขนส่งตนจะไม่รับผิดชอบด้วย ซึ่งทางชายดังกล่าวก็ตกลง
นางสาวนฤชา กล่าวอีกว่า จากนั้นชายดังกล่าวก็พยายามถามว่าจะไปส่งของที่สาขาไหน โดยทางผู้ก่อเหตุบอกว่าอยากให้ส่งกับขนส่งเอกชนสีแดง โดยผู้ก่อเหตุอ้างว่ามีพนักงานที่รู้จักกันที่สาขาเชียงใหม่ และถามย้ำว่าตนจะไปส่งที่สาขาไหน และไม่ให้ตนส่งสาขาเฟรนไชน์ด้วย ตนจึงส่งไปบอกว่าจะไปที่ไหนเพื่อความสบายใจของลูกค้า พร้อมกับส่งพิกัดไปให้ ต่อมาผู้ก่อเหตุเริ่มอยากรู้ว่าตนจะไปส่งของให้กี่โมง พร้อมกับบอกว่าเมื่อตนไปถึงให้อัดวีดีโอคอลตอนแพ็คสินค้าส่งให้ดู ซึ่งผู้ก่อเหตุทำทีว่าไม่อยากให้พนักงานขนส่งสงสัยสิ่งของด้านในและให้ออกมาด้านนอก และให้บอกว่าเป็นการส่งครีม กระทั่งตนนำสินค้าส่งเข้าระบบ และแจ้งเลขพัสดุไปให้ซึ่งวันดังกล่าวมีผู้ติดตามไปด้วย จากนั้นเริ่มทำทีว่าของยังไม่เข้าระบบ ขอรอให้สินค้าเข้าระบบก่อน และบอกว่าระหว่างนี้ "ผมจะโอนเงินสดให้คุณก่อน 1แสนบาท " แล้วให้ตนไปเงินที่ตู้แบบไม่ใช้บัตร ซึ่งตนทราบเวลาตัดรับของของขนส่งว่าจะมารับของเวลา 16.30 น. ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาบ่าย 3 โมงนิด ๆ ตนจึงคิดว่าหากผู้ก่อเหตุยังไม่โอนมา จะสามารถเดินกลับมาตัดของออกจากระบบได้ ซึ่งตนไม่ได้ไว้ใจโจร เมื่อเดินไปธนาคารซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก ประมาณ 1 กิโล กดรหัสไม่ผ่านจึงรีบกลับมาที่ขนส่งและแจ้งกับพนักงานว่าจะขอตัดของออกจากระบบ โดยพนักงานก็ตอบตกลง จนกระทั่งช่วงที่ตนยืนอยู่บริเวณหน้าร้านขนส่ง ทางผู้ก่อเหตุพยายามโทรเข้ามาเพื่อขอเปลี่ยนบัญชีธนาคาร ซึ่งมีผู้ติดตามของตนยืนอยู่ภายในร้านเดินออกมาบอกว่ามีแมสเซนเจอร์มารับของออกไปแล้ว ตนจึงเข้าไปสอบถามกับพนักงานขนส่งว่าปล่อยของออกไปได้อย่างไร ในเมื่อตนยังอยู่ตรงนี้ โดยพนักงานขนส่งบอกว่า แมสเซนเจอร์เข้ามารับไปตั้งแต่ช่วงที่ตนเดินออกไปธนาคาร
จากนั้นตนจึงไปแจ้งความ และไปไล่กล้องวงจรปิดรอบขนส่งดูเอาเองเนื่องจากที่ขนส่งไม่มีกล้องเป็นสาขาเพิ่งเปิดใหม่ ซึ่งผู้ก่อเหตุใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ตนจึงตั้งคำถามว่าทำไมขนส่งไม่ขอดูบัตรประชาชน ของผู้รับของไป และไม่ได้รับติดต่อจากบริษัทต้นทางอย่างใด หลังจากนั้นตนจึงรวมกลุ่มผู้เสียหายรายอื่น ๆ และพบว่าหลังจากที่ตนถูกหลอกยังมีผู้เสียรายอื่นโดนหลอกแทบทุก ๆ วันด้วย โดยบางรายโดนตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ทางขนส่งไม่มีการติดประกาศหรือเตือนพนักงานให้ระมัดระวังมิจฉาชีพเหล่านี้ด้วย เบื้องต้นตนก็มีการประสานงานกับตำรวจอย่างต่อเนื่องและไปแจ้งความที่กองปราบแล้ว
นอกจากนี้สำหรับผู้เสียหายรายอื่นๆก็ถูกหลอกลักษณะเดียวกันด้วย ซึ่งครั้งล่าสุดคือวันที่ 15 มิ.ย. โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่จะถูกหลอกขนส่งเอกชน (สีแดง) ส่วนผู้ก่อเหตุตนทราบจากตำรวจว่าตัวอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่าทำเป็นขบวนการ พฤติการส่วนใหญ่จะใช้รูปเฟซบุ๊กปลอมในการหลอก และอีกกรณีผู้เสียหายรายหนึ่ง ต้องการขายโทรศัพท์มือถือไอโฟนไป จึงส่งรูปบัตรประชาชนยืนยัน จากนั้นทางมิจฉาชีพก็ใช้วิธีการเดิมในการหลอกขอเลขพัสดุ และเข้าไปรับของออกจากขนส่ง ต่อมามิจฉาชีพกลับนำบัตรประชาชน และรูปของผู้เสียหายไปหลอกลวงผู้อื่นต่ออีกทอด
ทั้งนี้ตนขอฝากให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.ช่วยติดตามคนร้ายเอามาดำเนินคดีเพื่อไม่ให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นอีก และขอให้ทางประชาชนระมัดระวังในการส่งของรวมถึง อยากให้ทางขนส่งออกมารับผิดชอบและเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้รอบครอบมากขึ้นด้วย ผู้เสียหาย กล่าว
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน