บุกทลาย 2 เครือข่ายค้าบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ ยึดของกลางมโหฬาร มูลค่ารวมกว่า 17 ล้านบาท

บุกทลาย 2 เครือข่ายค้าบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ ยึดของกลางมโหฬาร มูลค่ารวมกว่า 17 ล้านบาท

ตามนโยบายรัฐบาลโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำนโยบายการปราบปรามการกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบอย่างเข้มข้น รวมทั้งการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดบนโลกออนไลน์นั้น พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการ ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.(ปป1) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเร่ดรัดคดียาสูบฯ และ ผู้แทน ผบ.ตร. ในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

วันที่ 20 มิ.ย. 67 ณ อาคารสัมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.นาวิน เส็งสมวงศ์ ผบก.อก.บช.สอท., พ.ต.อ.สมพล ใจดี รอง ผบก.สอท.2, พ.ต.อ.ปณิธาน ยามานนท์ รอง ผบก.สอท.2 และ พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.1 บก.สอท.2 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการ SMOKELESS บุกทลาย 2 เครือข่ายค้าบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ ยึดของกลางมโหฬาร มูลค่ารวมกว่า 17 ล้านบาท

สืบเนื่องจากตำรวจไซเบอร์ได้จับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ ต่อมาได้สืบสวนขยายผลจนทราบข้อมูลเครือข่ายผู้ค้ารายใหญ่ และสามารถรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายค้นและได้นำกำลังเข้าจับกุมเครือข่ายผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ที่ผ่านมา

จากการจับกุมในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบข้อมูลสำคัญ จึงได้ใช้เฝ้าติดตามสะกดรอยคนร้ายที่ร่วมขบวนการในคดีนี้เรื่อยมา จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายค้นเป้าหมายจำนวน 2 จุด ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและกรุงเทพมหานคร

กระทั่งวันที่ 19 มิ.ย.67 พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.1 บก.สอท.2 ได้ระดมกำลังเข้าตรวจค้นทั้ง 2 เป้าหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ ม.6 ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย คือ นายธนโชติฯ อายุ 44 ปี โดยกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขายสินค้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย (บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า) ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 และซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นสิ่งของต้องห้ามน้ำเข้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 พร้อมของกลางดังนี้

- รถกระบะบรรทุก ตู้ทึบ ยี่ห้อ NISSAN สีน้ำเงิน

- พอตใช้แล้วทิ้งยี่ห้อ Marbo จำนวน 28 กล่อง (10,080 ชิ้น) ราคา 2,520,000 บาท

- น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าชนิดเติม จำนวน 10 กล่อง (5,000 ชิ้น) ราคา 1,000,000 บาท

- หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อ M-zero จำนวน 14 กล่อง (28,600 ชิ้น) ราคา 3,432,000 บาท

- หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ยี่ห้อ PopUp จำนวน 3 กล่อง (8,480 ชิ้น) ราคา 1,017,600 บาท

- พอตบุหรี่ไฟฟ้า ยี่ห้อ INFY แบบใช้แล้วทิ้ง จำนวน 3 กล่อง (1,150 ชิ้น) ราคา 287,500 บาท

รวมจำนวนทั้งสิ้น 53,310 ชิ้น มูลค่ารวม 8,257,100 บาท

2. ตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านย่านแขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร จับกุมผู้ต้องหา 1 รายคือ นางสาวณัฐภรณ์ฯ อายุ 30 ปี โดยกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขายสินค้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย (บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า) ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 และซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพีงรู้ว่าเป็นสิ่งของต้องห้ามน้ำเข้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 พร้อมของกลางดังนี้

- พอตใช้แล้วทิ้ง ยี่ห้อ Qick จำนวน 45 ลัง (จำนวน 18,000 ชิ้น) ราคา 4,500,000 บาท

- พอตใช้แล้วทิ้ง ยี่ห้อ Marbo จำนวน 22 ลัง (จำนวน 7,360 ชิ้น) ราคา 1,840,000 บาท

- หัวพอต ยี่ห้อ INFY จำนวน 5 ลัง (จำนวน 3,000 ชิ้น) ราคา 360,000 บาท

- พอตใช้แล้วทิ้ง ยี่ห้อ Sweet soda จำนวน 42 ลัง (จำนวน 8,600 ชิ้น) ราคา 2,150,000 บาท

- พอตใช้แล้วทิ้ง ยี่ห้อ Lana pen plus จำนวน 2 ลัง (จำนวน 400 ชิ้น) ราคา 100,000 บาท

รวมจำนวนทั้งสิ้น 37,360 ชิ้น มูลค่ารวม 8,950,000 บาท

รวมของกลาง ทั้ง 2 จุด มูลค่า 17,207,100 บาท

ข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ กรณีความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีคำสั่ง ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากูไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ฯ โดยผู้ใดขายหรือให้บริการ มีความผิดตามมาตรา 29/9 ประกอบมาตรา 56/4 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

เป็นความผิดตามมาตรา 20 แห่งพ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้าฯ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากูไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้ง สิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดฯ นั้นด้วย

เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า

เป็นความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดฯ ตามมาตรา246 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯ

ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ