เฮทั้งประเทศ รัฐบาลประกาศข่าวดี ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เริ่ม 1 ตุลาคม 2567
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับวิถีชีวิตประชาชนของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการกำหนดแนวทางจนเกิดเป็นผลความสำเร็จ โดยได้ประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานไทย เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเป็นการทยอยปรับขึ้นเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ หารือไตรภาคี 14 พ.ค.นี้ เตรียมความพร้อม กระทรวงแรงงาน จะนำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เข้าหารือ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ เพื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม และถ้าหากยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5 - 6 เดือน ในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการประเภท SME ที่เป็นผู้ถือครองจำนวนแรงงานมากที่สุด เดินเครื่องปรับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ หลังนำร่อง 10 จังหวัด
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว อัตราวันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2567
กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา
จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง
จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลเมืองหัวหิน
จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
จังหวัดภูเก็ต
จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ
จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย
ปรับเงินเดือนแรกบรรจุกลุ่ม ขรก.พลเรือน - เจ้าหน้าที่ของรัฐ
นอกจากนี้ ยังปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีผลบังคับใช้เเล้ว เป็นปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 โดยรัฐบาลจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ ได้เเก่
ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท
ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี
ปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
จากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า นายกฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งทุกคนควรมีเงินเดือน ค่าแรงที่เป็นธรรม ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เศรษฐกิจดี รวมทั้งสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอด คือความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าถึงระบบสวัสดิการ การคุ้มครอง หลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม