ก้าวไกล เดินขบวนเนื่องในวันแรงงาน ชูสิทธิลาคลอด 180 วัน-พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน จี้ รบ.ชัดเจนเรื่องขึ้นค่าแรง
วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 สส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากล 1 พ.ค. เริ่มต้นบริเวณหน้าเวทีมวยราชดำเนิน ถ.ราชดำเนินนอก ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังลานคนเมือง มีประชาชนเครือข่ายผู้ใช้แรงงานมาร่วมเดินขบวนอย่างคึกคัก
โดยระหว่างทางมีการแจกแผ่นพับใบปลิวรณรงค์ร่างกฎหมายแรงงานของพรรคก้าวไกล ทั้งร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้) ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ และร่าง พ.ร.บ. สหภาพแรงงาน ที่ยื่นเข้าสภาฯ แล้ว เพื่อรับรองสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงาน สอดคล้องหลักสากลในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 คาดว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในเว็บไซต์ของรัฐสภาเร็วๆ นี้
โดย นายชัยธวัช ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนช่วงหนึ่งว่า วันนี้ควรเป็นวันที่รัฐบาลมีคำตอบที่ชัดเจนแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน หลังจากรอคอยมาหลายเดือน ทั้งเรื่องสวัสดิการแรงงานและการปรับขึ้นค่าแรง แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนมีแต่ความไม่ชัดเจน เช่น ถ้ามีการขึ้นค่าแรงจริงๆ จะขึ้นเป็นเท่าไร ถ้าเป็น 400 บาทจะเป็น 400 บาทแบบมีดอกจันเงื่อนไขหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงเพียงบางส่วนบางพื้นที่ตามที่ออกมาแล้ว ทำให้พี่น้องแรงงานผิดหวัง เรื่องนี้ถือเป็นความกล้าหาญของรัฐบาลด้วย ที่ผ่านมาค่าครองชีพขึ้นเร็วมาก แต่ค่าแรงไม่ปรับตาม ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
ส่วนที่มีความกังวลว่าการขึ้นค่าแรงจะกระทบผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือออกมาควบคู่กัน เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยการกดค่าแรงให้ถูก แต่ทิศทางที่ควรเป็นคือแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต ทักษะแรงงาน และการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนมากกว่านี้
สำหรับร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาฯ คือกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือสิทธิลาคลอด 180 วัน จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานกล้ามีลูก เพราะถ้าค่าแรงไม่ขึ้น สวัสดิการเรื่องการลาคลอดไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ คนก็ไม่กล้ามีลูก และกฎหมายอีกฉบับคือร่างกฎหมายสหภาพแรงงาน
ซึ่งเราเสนอเพื่อทดแทนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ประกาศใช้กันมาเป็นสิบปีและไม่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อรับรองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานให้มากขึ้น เพิ่มกลไกในการแสวงหาความร่วมมือที่มีความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง นี่คือ 2 ร่างกฎหมายที่เราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนราษฎรทุกฝ่ายทุกพรรคการเมืองเพื่อยกระดับสิทธิ์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน