เก็บตกภาพ สุริยุปราคาเต็มดวง งดงามเหนือฟากฟ้าทวีปอเมริกาเหนือ
วันที่ 9 เมษายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 8 เมษายน 2567 ณ เมืองโบรกเคนโบว์ รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา แม้ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้สภาพท้องฟ้ามีเมฆบางๆ ตลอดปรากฏการณ์ แต่ก็สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา และเปลวสุริยะได้อย่างชัดเจน
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นำทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. เดินทางมาเก็บข้อมูล และศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณทะเลสาบโบรกเคนโบว์ รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริเวณที่แนวคราสเต็มดวงพาดผ่าน ใกล้กึ่งกลางแนวคราสเต็มดวง ตั้งกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่างๆ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ รวมทั้งเก็บภาพมาฝากชาวไทย นอกจากนี้ยังมีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวไทยจำนวนหนึ่ง เดินทางจากประเทศไทยมาร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้อีกด้วย
ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 เมษายน 2567 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น ช่วงเช้าวันดังกล่าว สภาพท้องฟ้ามีเมฆมากเป็นบริเวณกว้างทั่วอาณาบริเวณตอนล่างของสหรัฐอเมริกา สดร. กำหนดตั้งจุดสังเกตการณ์ ณ เมืองโบรกเคนโบว์ รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งหลังจากเวลาเป็นต้นไป 12:00 น. เมฆเริ่มสลาย เหลือเพียงเมฆบางๆ
ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
จนกระทั่งเวลา 12:28 น. ดวงจันทร์เริ่มบดบังดวงอาทิตย์ เข้าสู่ช่วงสุริยุปราคาบางส่วน หลังจากนั้นเวลา 13:46 น. ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง เข้าสู่ช่วงสุริยุปราคาเต็มดวง ท้องฟ้ายังคงมีเมฆบางๆ แต่ก็สามารถสังเกตเห็น ปรากฏการณ์แหวนเพชร ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ชั้นโคโรนา และเนื่องจากช่วงนี้ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Maximum ทำให้สามารถสังเกตเห็น เปลวสุริยะ พวยพุ่งเป็นสีแดง เห็นชัดด้วยตาเปล่าตลอดช่วงเวลาคราสเต็มดวง นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ข้างเคียงได้อย่างชัดเจน อาทิ ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว ขณะดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด กินเวลานานถึง 4 นาที 17 วินาที ท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ ปรากฏบนท้องฟ้าเป็นที่น่าประทับใจยิ่ง
สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 30/71 ชุดซารอสที่ 139 ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เงามืดของดวงจันทร์ เริ่มสัมผัสพื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เวลาประมาณ 23:39 น. ของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นพาดผ่านประเทศแม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก เวลาประมาณ 02:55 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย (จุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองนาซาส รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานถึง 4 นาที 28 วินาที) และเงาของดวงจันทร์จะพ้นจากโลกโดยสมบูรณ์เวลาประมาณ 03:52 น. ของวันที่ 9 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย
ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2569 ผ่านประเทศสเปน มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ประเทศไอซ์แลนด์ บริเวณกรีนแลนด์ ประเทศเดนมาร์ก บริเวณขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของประเทศรัสเซีย
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 เห็นเป็น ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 17:54 - 18:45 น. ตามเวลาประเทศไทย
ข้อมูลและภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ