ส่องค่าครองชีพไทย อยู่อันดับที่เท่าไรของโลก

ส่องค่าครองชีพไทย อยู่อันดับที่เท่าไรของโลก

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพทั่วโลก ของเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง Numbeo ช่วงต้นปี 67 ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย ในช่วงต้นปี 67 อยู่ที่ 36% ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบที่ 100% โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่มีดัชนีค่าครองชีพ 40.7% หรืออันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยสูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ ที่มีดัชนี 33.6% สูงอันดับ 104 รองลงมาเวียดนาม 30.8% อันดับ 113 มาเลเซีย 30.5% อันดับ 115 และอินโดนีเซีย 28.5% อันดับ 126 ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่า ได้แก่ กัมพูชา 38.5% อันดับ 88 เมียนมา 38.6% อันดับ 87 บรูไน 50.5% อันดับ 48 และ สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน ที่ 81.9% สูงอันดับ 7 ของโลก

ประเทศค่าครองชีพสูงสุดในอาเซียน

1 สิงคโปร์ มีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน ค่าดัชนี 81.9% สูงอันดับ 7 ของโลก

2 บรูไน ค่าดัชนี 50.5% อันดับ 48

3 เมียนมา ค่าดัชนี 38.6% อันดับ 87

4 กัมพูชา ค่าดัชนี 38.5% อันดับ 88

5 ไทย ค่าดัชนี 36% อันดับที่ 94

6 ฟิลิปปินส์ ค่าดัชนี 33.6% สูงอันดับ 104

7 เวียดนาม ค่าดัชนี 30.8% อันดับ 113

8 มาเลเซีย ค่าดัชนี 30.5% อันดับ 115

9 อินโดนีเซีย ค่าดัชนี 28.5% อันดับ 126

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพไทยลดลงมาจาก ดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ ลดลงจาก 42% เหลือ 41%. อาทิ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ขณะที่ดัชนีราคาอาหารในร้านอาหารลดจาก 21% เหลือ 18.4% อาทิ เซ็ตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่ปรับตัวลดลง

ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เบอร์มิวดา สูงถึง 133.6% มาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก รองลงมาสวิตเซอร์แลนด์ สูงถึง 112.2% เนื่องจากเป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง มีระบบสวัสดิการที่ดี เป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าครองชีพจึงอยู่ในระดับสูง และ 3.หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึง 111.7% โดยหมู่เกาะเคย์แมนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

ประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปากีสถาน อยู่ที่ 18.5% เนื่องจากเผชิญปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร กดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นไนจีเรีย 19.3% เนื่องจากเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแอ และปัญหาความยากจนสูง และลิเบีย อยู่ที่ 21.2% เพราะมีความเปราะบางทางการเมือง มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ