ค่าเงินบาทวันนี้ 20 มี.ค. 67 บทวิเคราะห์ล่าสุด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุค่าเงินบาทวันนี้เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้าโดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.04-36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์เล็กน้อยของราคาทองคำ นอกจากนี้ การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้ส่งออกมีการทยอยขายเงินดอลลาร์บ้าง หรือผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ตั้งแต่การกลับตัวจากโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจทยอยขายทำกำไรก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นชะลอลง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าทะลุเหนือโซนแนวต้าน จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นใน ธีม AI โดยเฉพาะ Nvidia +1.1% ที่ได้อานิสงส์จากการเปิดตัวชิป AI รุ่นใหม่ที่ทรงพลัง ในงาน “NVidia GTC 2024” นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ ยังช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นพลังงานปรับตัวขึ้น อาทิ Exxon Mobil +0.7% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.56%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จะเปิดทางให้ เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 36.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าหากเงินบาททะลุโซนแนวต้านดังกล่าวได้จริง ก็จะยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปสู่โซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ (ในเชิงเทคนิคัล ภาพดังกล่าว คือ การอ่อนค่าทะลุ Triple Tops) ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกดดันต่อเงินบาท รวมถึงทุกสินทรัพย์ในตลาดการเงิน คือ ผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยเฉพาะในประเด็น Dot Plot ใหม่
โดยเราประเมินว่า Dot Plot ใหม่จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจะยังคงสะท้อนว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งในปีหน้า เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นมีการชะลอตัวลงมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงานและการบริโภคครัวเรือน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจชะลอตัวลงช้าบ้างก็ตาม โดยหาก Dot Plot ใหม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีการ “Sell on Fact” ขายทำกำไรสถานะ Long USD หรือ ฝั่ง Short UST ออกมาบ้าง ทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อลงเล็กน้อย และช่วยหนุนทั้งราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทให้รีบาวด์ขึ้นบ้าง ที่น่าสนใจ คือ เงินเยนญี่ปุ่นที่ผันผวนอ่อนค่าลงมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก ก็อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้จริง
ในทางกลับกัน เรายอมรับว่า การเปลี่ยนแปลง Dot Plot ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะอาศัยแค่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพียง 2 เสียง ที่มองเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือน้อยกว่า ในการที่จะทำให้ Median ของ Dot Plot ในปีนี้ สะท้อนว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งหาก Dot Plot ใหม่สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 3 ครั้ง จริง เราคาดว่า ตลาดการเงินจะผันผวนสูงขึ้นตามความกังวลแนวโน้มเฟดไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือ ธีม “Higher for Longer” จะกลับมากดดันตลาด ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้พอสมควร กดดันให้ เงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นมากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับคาดการณ์ของเฟด ว่าจะลดดอกเบี้ยกี่ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยเลย (เงินดอลลาร์แข็งค่ามากสุด และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้สูงสุด ในกรณีนี้) ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังล่าสุดนักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ไทย ทั้งบอนด์ระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.15 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด และประเมินกรอบเงินบาท 35.85-36.35 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด