พยาบาลแสบ เอาสำเนาบัตร ปชช. คนไข้ 680 คน ไปกู้เงิน
วันที่ 15 มีนาคม 2567 มีรายงานว่า จากกรณี น.ส.ธีรนันท์ อายุ 39 ปี พยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน กทม. นำสำเนาบัตรประชาชนของผู้ป่วย 680 ใบ ไปปลอมลายเซ็นเพื่อกู้ยืมเงิน เฮียอ้วน เจ้าของเต็นท์รถ พร้อมหลอกว่า ผู้เสียหายที่มีข้อมูลบัตรประชาชนเหล่านี้คือลูกหนี้ เบื้องต้นพบว่า รายชื่อผู้กู้ทั้งหมดน่าจะเป็นผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาล จนเกิดข้อกังขาถึงความปลอดภัยในข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ เพราะพยาบาลผู้ก่อเหตุไม่ได้อยู่เวชระเบียนที่ทำเกี่ยวกับเอกสาร แต่กลับมีเอกสารเหล่านี้หลุดออกมาและถูกนำไปก่อความเสียหาย
ภาพจาก เที่ยงวันทันเหตุการณ์
จากการสอบถามโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านพัฒนาการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ น.ส.ธีรนันท์ ทำงานอยู่ ได้ข้อมูลว่า น.ส.ธีรนันท์ เป็นพยาบาลอยู่แผนก ER หรือ ฉุกเฉิน ทำงานมานาน 5-6 ปี แต่เพิ่งลาออกไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางผู้บริหารรับทราบเรื่องแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดว่า สำเนาบัตรประชาชนคนไข้หลุดออกไปได้อย่างไร
หนึ่งในเจ้าของบัตรประชาชน 680 ใบ ที่ถูกนำมากู้เงินโดยไม่รู้ตัว เปิดเผยว่า ไม่เคยรู้จักกับ น.ส.ธีรนันท์ ที่ผ่านมาไม่เคยกู้เงินนอกระบบหรือกู้เงินผ่านแอปฯ ใด ๆ ส่วนสำเนาบัตรประชาชนที่หลุดออกไป ค่อนข้างมั่นใจเลยว่าหลุดมาจากที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว เพราะตอนปี 2563 ตนพร้อมเพื่อนพนักงาน เข้ารับการตรวจโควิด-19 ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งมีพนักงานที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด 85 คน ตอนนี้ได้ส่งข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวแล้ว เพื่อประสานกับเฮียอ้วน ในการช่วยตรวจสอบว่าในสำเนาบัตรประชาชนทั้ง 680 ใบ ยังมีพนักงานคนอื่น ๆ ของบริษัทที่โดนแบบตนเองอีกหรือไม่
นอกจากนี้ หนึ่งในผู้เสียหายอีกท่าน ซึ่งอยู่โรงพยาบาลเดียวกันกับ น.ส.ธีรนันท์ เล่าว่า เมื่อ 4-5 ปีก่อน เธอทำงานอยู่แผนกเดียวกันกับ น.ส.ธีรนันท์ และได้มีการกู้เงินอีกฝ่ายจริง จำนวน 20,000 บาท ซึ่งช่วงนั้น น.ส.ธีรนันท์ เคยพาเฮียอ้วน เจ้าของเต็นท์รถมาเจอ เคยกินข้าวและพูดคุยกันบ้างช่วงที่กู้เงิน จากนั้นไม่กี่เดือนก็มีการใช้เงินคืนจนหมดและไม่เคยกู้เงินกับ น.ส.ธีรนันท์ อีกเลย ต่อมาเธอได้ย้ายแผนก ทำให้เริ่มห่างกับอีกฝ่าย ไม่ได้สนิทสนมกันเหมือนก่อน
กระทั่งเธอได้รับการติดต่อจากเฮียอ้วนว่า มีการไปกู้เงินอีก 300,000 บาท ซึ่งเธอได้อธิบายกับเฮียอ้วนไปแล้วว่า ไม่ได้รู้เรื่องและไม่ได้เป็นคนกู้เงินดังกล่าว มาทราบภายหลังว่า น.ส.ธีรนันท์ ลาออกจากโรงพยาบาลแล้ว เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส่วนนิสัยของอีกฝ่ายนั้น ก็ดูไม่ใช่คนมีนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่งตัวธรรมดาและเป็นคนเรียบง่าย ไม่คิดว่าจะมีพฤติกรรมแบบนี้
ขณะที่ ฝ่ายกฎหมายของสภาการพยาบาล ให้ความเห็นว่า กรณีนี้ ที่มีการนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้เข้ารับบริการ ในสถานพยาบาลไปกู้เงินโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของ แม้ไม่มีผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายมายื่นหนังสือให้ตรวจสอบ แต่มีข่าวข้อเท็จจริงชัดเจน ในข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขั้นตอนต่อไป ก็จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ในข้อบังคับสภาการพยาบาล ลักษณะความผิดที่เข้าข่ายของพยาบาลรายนี้ อยู่ในส่วนการปฏิบัติต่อผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการ ข้อที่ 11 ผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องไม่หลอกลวงผู้ป่วย ให้หลงเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตน และข้อ 15 ผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้ป่วย แต่ทั้งหมดนี้ ต้องรอการสอบข้อเท็จจริงจึงจะสามารถสรุปว่าผิดข้อใดบ้าง
ล่าสุด คุณขวัญ หนึ่งในผู้เสียหายที่เปิดใจกับสื่อ ได้เข้าแจ้งความ น.ส.ธีรนันท์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 การนำเอกสารใด ๆ ของผู้อื่นไปใช้จนทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลนั้น มีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ ยังให้เอาผิดตามกฎหมาย PDPA กับโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวด้วย ในฐานะที่เป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลและปล่อยให้ข้อมูลนั้นหลุดออกไปถึงบุคคลอื่นจนทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้พนักงานสอบสวน จะทำการสอบปากคำคุณขวัญพร้อมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายเรียก น.ส.ธีรนันท์ มารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
ส่วนเรื่องของทางโรงพยาบาล ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนเพิ่มเติมก่อนจะแจ้งข้อหาเอาผิดกับโรงพยาบาล เพราะต้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ข้อมูลหลุดและเกิดความบกพร่องจากโรงพยาบาลจริงหรือไม่