ศาลตัดสิน สั่งประหารชีวิต ลูกเอียด โพธิ์ดำ ยิงเพื่อนเจ้าบ่าวเสียชีวิต กลางงานแต่ง

ศาลตัดสิน สั่งประหารชีวิต ลูกเอียด โพธิ์ดำ ยิงเพื่อนเจ้าบ่าวเสียชีวิต กลางงานแต่ง

จากกรณี นายเจริญ (สงวนนามสกุล) หรือ ฉายา ลูกเอียด โพธิ์ดำ อายุ 42 ปี ชาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ก่อเหตุใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงนายศราวุฒิ (สงวนนามสกุล) หรือ โกลาว อายุ 34 ปี เสียชีวิตบนถนนสายหินคอกควาย-บ้านหัวควน หลังมีปัญหากันมาจากงานแต่งงานเพื่อน ซึ่งจัดห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 200 เมตร แต่คนในงานเข้ามาห้ามปราม จนมีการยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด ก่อนพาผู้เสียชีวิตออกมาจากงานเพื่อกลับบ้าน แต่ระหว่างเดินไปขึ้นรถ นายเจริญ เดินตามมาจ่อยิงแสกหน้า นายศราวุฒิ เสียชีวิต โดยเหตุเกิดคืนวันที่ 29 ธ.ค. 2565

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลจังหวัดตรัง อ่านคำพิพากษาคดีตามที่พนักงานอัยการ ร่วมกับ นางหลก (สงวนนามสกุล) มารดาผู้เสียชีวิต เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 คือ นายเจริญ ใน 3 ข้อหาหนัก และจำเลยที่ 2 น.ส.สุทิพย์ (สงวนนามสกุล) หรือผู้ใหญ่เขียว อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหัวควน ต.บ้านนา ฐานข้อหาสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 นำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเพื่อนำไปก่อเหตุ

โดยในวันนัดฟังคำพิพากษา นายเจริญ หรือ ลูกเอียด โพธิ์ดำ ได้เดินทางมาที่ศาลพร้อมด้วย บรรดาญาติ ๆ และทนายประจำตัว ส่วนทางฝ่ายโจทย์ได้มีนางหลก ซึ่งเป็นโจทย์ร่วม มารดาของนายศราวุฒิ หรือโกลาว ได้เดินทางมาฟังพร้อมด้วยทนายประจำตัวฟังคำพิพากษา

นายเจริญ จำเลยที่ 1 ให้การว่ากระทำลงไปเพื่อป้องกันตัว อ้างว่าผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บอีก 2 รายได้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตนก่อนเลยยิงสู้เพื่อป้องกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาคำให้การของจำเลยที่อ้างว่าเป็นการป้องกันตัวฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2 น.ส.สุทิพย์ หรือผู้ใหญ่เขียว ให้การว่า อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้ก่อเหตุเป็นปืนราชการทางฝ่ายปกครอง และได้ให้อาวุธปืนจำเลยที่ 1 ไปจริง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมนำไปใช้ก่อเหตุ

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตราที่ 288 , 289 และ พรบ.อาวุธปืน ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นประหารชีวิต โดยจำเลยที่ 1 มีความผิดกรรมเดียวแต่กฎหมายหลายบท จึงให้รับโทษตามบทลงโทษที่หนักที่สุด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษ จำคุก 6 เดือน ปรับ 12,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 1 ปี

ทั้งนี้ มีรายงานว่า จำเลยที่ 1 ได้เตรียมหลักทรัพย์ยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ แต่การขอประกันตัวต้องยื่นต่อศาลอุทธรณ์ในการพิจารณา ส่วนความผิดทางปกครองกรณีจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ทางนายอำเภอ และผู้บังคับบัญชา จะต้องมีการพิจารณาโทษตามระเบียบต่อไป

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ