ปิดเมืองนราฯ ล่า SIM BOX ตัดเครื่องมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชายแดนใต้
วันที่ 27 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงานว่า กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหา จำนวน 3 คน คือ 1. น.ส.ซารีนา (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี 2. Mr.KIANG WAN อายุ 25 ปี สัญชาติมาเลเซีย 3. Mr.KUOK RONG อายุ 36 ปี สัญชาติมาเลเซีย พร้อมด้วยของกลาง 1. อุปกรณ์ SIM BOX หรือ GSM Gateway สำหรับ 32 ซิมการ์ด จำนวน 15 เครื่อง 2. เครื่องกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ต (เร้าเตอร์ WIFI) จำนวน 3 เครื่อง และพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหา ร่วมกันมี, ใช้ และนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้อนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498, พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ผู้ถูกจับที่ 2 แจ้งข้อหาเพิ่มเติม บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามา และอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต) สถานที่ตรวจค้น/จับกุม บ้านเช่าในพื้นที่ ต.สุไหง-โกลก อ.สุไหง-โลก จ.นราธิวาส จำนวน 3 จุด
ปัญหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้ระบาดอย่างหนักในสังคมไทย มีพี่น้องประชาชนโดนหลอกลวงเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยได้สูญเสียเม็ดเงินต่อวันกว่าร้อยล้านบาท โดยกลุ่มแก๊งเหล่านี้มักจะตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่ชายแดนรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีวิธีการหลอกลวงที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ต้องปรับให้เท่าทันและล้ำหน้าแผนประทุษกรรมของคนร้ายอยู่เสมอเช่นกัน
ซึ่งหนึ่งในแผนประทุษกรรมยอดฮิตที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้เป็นประจำ คือการโทรศัพท์เข้าหาผู้เสียหาย โดยอ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วข่มขู่ว่าให้เหยื่อเชื่อว่าตัวเองกระทำผิดกฎหมาย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่างๆ ใช้วิธีพูดจาหว่านล้อมต่างๆนานา จนผู้เสียหายตกใจกลัว จำใจยอมโอนเงินให้คนร้ายในที่สุด แม้ว่าทางรัฐบาลจะมีมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันหมายเลขโทรศัพท์แปลกปลอม การยืนยันตัวตนของผู้ลงทะเบียนซิมการ์ด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ก็ได้ศึกษารูปแบบการกระทำความผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาต่อเนื่อง จนทราบว่า ปัจจุบันกลุ่มคนร้ายได้มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้โทรหาผู้เสียหาย โดยมีการแยกเครื่อง “SIMBANK” สำหรับเสียบซิมการ์ดโทรศัพท์ที่เป็นของค่ายโทรศัพท์ในประเทศไทยไว้ที่หนึ่ง “SIMBANK” จะตั้งอยู่ที่ในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ และจำเป็นต้องมีเครื่อง “SIM BOX” หรือ “GSM Gateway” ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นสัญญาณมือถือ “SIM BOX” แต่ละเครื่องมีช่องเสียบซิมการ์ดโทรศัพท์ จำนวน 32 ซิม แต่กลุ่มคนร้ายไม่ได้เสียบซิมการ์ดไว้ โดย “SIM BOX” จะถูกติดตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือฝั่งชายแดนที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดย “SIMBANK” (เสียบซิมการ์ด) และ “SIM BOX” (ไม่เสียบซิมการ์ด) จะเชื่อมต่อกับผ่าน Router โดยมี “Cloud SIP Server” เป็นตัวกลาง
เมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรจากต่างประเทศเข้ามาหลอกลวงผู้เสียหายคนไทย โดยใช้อุปกรณ์ดังกล่าว จะทำให้เห็นว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของประเทศไทย เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการขึ้นหมายเลขหน้าเบอร์โทร (Prefix) ของ กสทช. ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปหลงเชื่อได้ง่าย ในแต่ละวันคนร้ายจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้สุ่มโทรหาผู้เสียหายวันละหลายแสนครั้ง โดยปกติอุปกรณ์ดังกล่าวต้องขออนุญาตจาก กสทช. ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในธุรกิจ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ต่อมา กก.6 บก.ป. ได้สืบสวนจนทราบว่า ในพื้นที่ ต.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ชายแดนประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย มีการลักลอบติดตั้งอุปกรณ์ “SIM BOX” หรือ “GSM Gateway” เพื่อใช้โทรมาหลอกลวงผู้เสียหายชาวไทยหลายราย จนเป็นที่มาในการเปิดปฏิบัติการ ปิดเมืองนราฯ ล่า SIM BOX ตัดเครื่องมือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชายแดนใต้ ห้วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากการปฏิบัติการสามารถ จับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 รายดังกล่าวข้างต้น พร้อมของกลางเครื่อง “SIM BOX” หรือ “GSM Gateway” จำนวน 15 เครื่อง และของกลางอื่นๆ นำส่งพนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
สอบถามปากคำกลุ่มผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การรับสารภาพ 2 ราย คือ น.ส.ซารีนา และ Mr.KIANG WAN ซึ่งให้การว่าทั้งคู่คบหาดูใจกัน และได้รับการว่าจ้างจากนายทุนชาวมาเลเซีย ให้ดูแลสถานที่ ซึ่งมีการติดตั้ง SIM BOX โดยส่วนใหญ่ นายทุนชาวมาเลเซีย จะติดต่อคนไทยที่มีความสัมพันธ์กับคนมาเลเซีย ให้หาบ้านเช่า และติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตในบ้านเช่า จากนั้นฝ่ายเทคนิคจะเข้ามาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้ผู้ต้องหาทั้งสองคนจะได้รับค่าจ้างเป็นค่าดูแลอุปกรณ์เป็นเงิน 5,000 บาท ต่อจุด สำหรับเช่าบ้าน ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำค่าไฟ จะจ่ายต่างหากส่วน Mr.KUOK RONG ผู้ต้องหาอีกราย ยังคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อ้างว่าตนเพียงโอนเงินให้ผู้ต้องหาที่ 1 ตามสั่งการของนายทุนชาวมาเลเซีย ส่วนตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน