รถมือสอง อ่วม ราคาร่วง 30% ยอดปฏิเสธกู้พุ่ง 50%

รถมือสอง อ่วม ราคาร่วง 30% ยอดปฏิเสธกู้พุ่ง 50%

วันที่ 25 มกราคม 2567 นายพิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าและซื้อขาย รถมือสอง เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์มือสองหดตัว โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ซัพพลายรถยนต์ล้นตลาด

จากการยึดทรัพย์ NPL กลุ่มรถยนต์ของสถาบันการเงิน ขณะที่ยอดขายออกมีประมาณ 600,000 คัน ส่งผลให้เกิดแบงก์เข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ดัน ยอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจคชั่น เรต) รถยนต์มือสองขึ้นแตะระดับ 40% โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะที่มีการผ่อนต่อไม่ไหวสูง ทำให้ยอด รีเจคชั่น เรต ทะยานไปมากกว่า 50% และมียอดขายออกได้น้อย “ยอด NPL รถยนต์ปีก่อนสูง รถมือสองกระทบ แบงก์ปล่อยกู้ยากขึ้น มีการระมัดระวังมากขึ้น

บางรายมีการเพิ่มวางเงินดาวน์ลูกค้า ในเรตที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเครดิตผู้ผ่อน ที่ผ่านมาเรามีการสแกนลูกค้าเข้มข้น จึงพบหนี้เสียค่อนข้างน้อย” อีกมุมหนึ่งผลกระทบดังกล่าว คือ เมื่อซัพพลายล้น ราคาขายรถมือสองลดลง 20-30% จากรถยนต์ราคา 3 แสนบาท ในปี 2565 ลดลงเหลือราคา 2 แสนบาทต้น ๆ ในปี 2566 แต่ในปี 2567 คาดว่าราคาจะค่อย ๆ ดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตาคือรถอีวีจะเข้ามาเป็นตัวแปรในตลาดมือสองปี 2567 นี้ โดยการเข้ามาของอีวีหลายสัญชาติ และการแข่งขันที่ดุเดือด

จะทำให้รถยนต์สันดาปมือหนึ่งปรับแผนให้โปรโมชั่นและราคาดี ทำให้ราคาในบางรุ่นรถมือหนึ่งจะคุ้มกว่ารถมือสอง จึงอาจกระทบตลาดรถยนต์มือสองเล็กน้อยสัก 5-10% แต่สิ่งที่มีผลต่อตลาดมือสองมากกว่าคือค่าเสื่อมที่ 50% และค่าซ่อมที่ 30% ขณะที่ราคารถยนต์อีวีมือสองมีแนวโน้มเป็นลบมากกว่ารถยนต์สันดาป โดยราคาขายต่ออาจน้อยกว่าถึง 20% เนื่องจาก มีเรื่องการรับรองแบตเตอรี่ระยะ 8 ปี ไม่เกิน 1.5-1.8 แสนกม. แต่จากการสำรวจพบว่าการใช้งานระยะ 5 ปี มักใช้เกินจากที่รับประกันไปแล้ว

สำหรับ KCAR ประเมินว่า ตลาดปีนี้ยังทรงตัว และเพื่อรองรับทุกสภาวะเศรษฐกิจ บริษัทฯ ได้นำรถยนต์มือสองอายุ ตั้งแต่ 1-12 ปี มาลงตลาด จับกลุ่มดีมานด์หลายระดับราคา จากอดีตก่อนโควิดจะมีพอร์ตฯ รถยนต์มือสองอายุไม่เกิน 7 ปี ทำให้เรายังได้ดีมานด์จากกลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากเจ้าอื่น

ขณะที่ในปีนี้ บริษัทฯ มีรถยนต์ที่ครบเวลาสัญญาเช่าหลัก 2,000 คัน และเตรียมที่จะนำไปขายปลีกสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไป ทำให้พอร์ตฯ รายได้ในปีนี้ฝั่งขายจะมีสัดส่วน 45% และฝั่งรายได้จากค่าเช่ามีสัดส่วน 55% รวมถึงตั้งงบลงทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อรถยนต์ใหม่ ๆ เข้ามาเติมพอร์ตฯ ครึ่งปีแรกคาดใช้งบ 700-800 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์การสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินบริษัทฯ ปรับการออกหุ้นกู้น้อยลง และหันไปใช้การกู้ธนาคารแทน ซึ่งจะมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้ประมาณ 2% “เราวางกลยุทธ์เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ที่ผ่านมาแม้เราจะมีสินทรัพย์ 5,700 ล้านบาท เป็นอันดับ 8 ของอุตฯ

แต่มีอัตรากำไรสูงสุดเฉลี่ย 4% และมีหนี้สินต่อทุน (D/E) 1.5 เท่า ต่ำสุดในอุตฯ ขณะที่มีอัตรากำไรขั้นต้นช่วง 9 เดือน ปี 66 เฉลี่ย 41% จากภาพรวมตลาดมีกำไรขั้นต้นระดับ 10% โดยในปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้นในระดับ 5-6%”

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ