เปิดโทษแก๊ง 5 เยาวชนใจเหี้ยม รุมทำร้าย ป้าบัวผัน จนเสียชีวิต
จากกรณีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน หรือป้ากบ ที่ถูกกลุ่มเยาวชน 5 คนรุมทำร้าย ซึ่งทำให้มีคำถามเรื่องอายุของเด็กที่ต้องรับโทษ และมีกระแสในโลกออนไลน์เรียกร้องให้ลดอายุเด็กและเยาวชนลง เพราะปัจจุบันอายุของผู้ที่ก่อเหตุอาชญากรรมลดลงต่อเนื่องนั้น
ล่าสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เกี่ยวกับเรื่องกฏหมายเด็กและเยาวชน ระบุว่า ข้อเสนอการจะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุของเด็ก และ เยาวชน หรือ การเพิ่มโทษให้เด็กและเยาวชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศไทยมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่เคยตกลงไว้บนเวทีประชุมระดับสากลโลก
ปัจจุบันมาตรการในคดีอาญาเด็กและเยาวชนโทษไม่ได้สูงมากนัก แต่กฎหมายแพ่งผู้ปกครองต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวเหยื่อด้วย บางคดีที่ผ่านมาเยาวชนขับรถชนคนเสียชีวิต ครอบครัวชดชดใช้เยียวยาเป็น 10 ล้านบาท คดีนี้ก็สามารถเรียกร้องให้ชดเชยเยียวยาได้ โดยสามารถให้สำนักงานอัยการ ช่วยทำคดีแพ่งให้ โดยที่ครอบครัวไม่ต้องฟ้องเอง
ขณะที่ช่วงอายุผู้ก่อเหตุทั้ง 5 คน ที่ร่วมกันทำร้ายร่างกาย และอำพรางศพ ป้าบัวผัน เริ่มจาก นายบิ๊ก อายุ 16 ปี, ด.ช.โก๊ะ อายุ 14 ปี, ด.ช.เชน อายุ 14 ปี, ด.ช.กัส อายุ 13 ปี และ ด.ช.แบงค์ อายุ 13 ปี ซึ่งเด็กทั้งหมดที่กระทำความผิดอาญา มีมาตรการทางกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้เด็กหลุดพ้นจากพฤติกรรมการกระทำความผิดและแก้ไขให้เด็กกลับมาเป็นคนดี
ซึ่งจะแบ่ง มาตรการนี้ตามช่วงอายุ คือ เด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ ส่วนคนที่อายุ 12 - 15 ปี ถ้าทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษ ให้เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติได้มากที่สุดถึงอายุ 18 ปี
อายุ 15 - 18 ปี หากทำผิดศาลจะสั่งลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษให้ลดลงกึ่งหนึ่ง แต่หากไม่ลงโทษ ให้เข้าสู่มาตรการฟื้นฟู ส่งไปคุมประพฤติที่สถานพินิจเด็กและเยาวชน ได้จนถึงอายุ 24 ปี ดังนั้นหมายความว่า เยาวชนที่ก่อเหตุทั้ง 5 คน หากได้รับโทษ ก็จะเข้าสู่กระบวนคุมประพฤติ เพราะทั้งหมด ไม่มีใครอายุ เกิน 18 ปี เลย ยังเป็นเด็กและเยาวชนอยู่
ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า หากเด็กและเยาวชนก่อเหตุคดีร้ายแรงส่วนใหญ่ศาลจะพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมเข้าสู่โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูทางด้านจิตใจ ฝึกฝนอาชีพ และการศึกษา เพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี
ส่วนเรื่องการปรับแก้โทษ ปรับช่วงอายุการรับโทษของเด็กและเยาวชนให้หนักขึ้นนั้นอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บอกว่าตามหลักสากลมีการทำวิจัยช่วงอายุที่เหมาะสมกับการรับโทษไว้หมดแล้ว ซึ่งตามหลักสากลมีการระบุไว้ว่าเด็กที่กระทำความผิดอายุไม่เกิน 14 ปีไม่ต้องรับโทษ ในขณะที่ประเทศไทยลดช่วงอายุที่ต้องโทษน้อยกว่าหลักสากล คือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เมื่อกระทำผิดไม่ต้องรับโทษ
การรับโทษของเด็กและเยาวชนเป็นการฝึกอบรมเป็นหลัก ซึ่งจำนวนปีที่ต้องคุมประพฤติและฝึกอบรมจะมาจากดุลพินิจของศาลซึ่งจะพิจารณาจากความหนักเบาของความผิดในคดีที่ก่อเหตุ แต่อย่างไรก็ตามตามหลักการพิจารณาก็ยังมองว่าเด็กสามารถพัฒนาและแก้ไขได้ จึงทำให้โทษของเด็กไม่รุนแรงถึงขั้นจำคุกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ข้อมูล PPTV