ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวงลดค่าธรรมเนียมการโอน-จำนอง บ้าน อาคารพาณิชย์ คอนโดไม่เกิน 3 ล้าน
เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงมหาดไทย 2 ฉบับ เพื่อลดค่าจดทะเบียนการโอน – จำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด ที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยให้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. 2566
กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดิน พร้อมอาคารดังกล่าว ซึ่งมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้าบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท และผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย
ทั้งนี้ เฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการภายในวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567
ค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ 1%
ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน 0.01%
กฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายห้องชุด เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ. 2566
กำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายห้องชุดในอาคารชุดที่จดทะเบียนบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้าบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท และผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย
ทั้งนี้ เฉพาะการจดทะเบียนที่ดำเนินการภายในวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567
ค่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 1%
ค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดอันเนื่องมาจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในคราวเดียวกัน 0.01%
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับท้ายกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ได้ระบุหมายเหตุของการประกาศใช้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สมควรกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นกรณีพิเศษ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้