เปิด 10 จังหวัดมีสัดส่วนคนจนสูงสุด สะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ร่วมกับธนาคารโลก จัดประชุมเรื่อง Bridging The Gap : Thailand’s Path to Inclusive Prosperity เพื่อเผยแพร่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565
โดยในภาพรวมของสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ในปี 2565 ชี้ว่าสถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้น สัดส่วนคนจนลดลงจาก 6.32% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 5.43% ในปี 2565 หรือมีคนจน จำนวน 3.8 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ความยากจนและความเหลื่อมล้ำดูเมื่อดูจากสัดส่วนคนจนจำแนกรายภูมิภาค พบว่าภูมิภาคที่มีปัญหาความยากจนรุนแรงมากที่สุด ได้แก่
- ภาคใต้มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด 9.30% ของประชากรในแต่ละภาค
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.81% ของประชากรในแต่ละภาค
- ภาคเหนือ 6.8% ของประชากรในแต่ละภาค
สำหรับข้อมูลของคนยากจนรายจังหวัดในรายงานฉบับนี้ พบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่
1. แม่ฮ่องสอน
2. ปัตตานี
3. ตาก
4. นราธิวาส
5. กาฬสินธุ์
6. หนองบัวลำภู
7. ยะลา
8. ศรีสะเกษ
9. ชัยนาท
10. ระนอง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าบางจังหวัดที่กำลังเผชิญปัญหายากจนเรื้อรัง โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ในปี 2565 และติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกัน 19 ปี ตั้งแต่ปี 2545 สะท้อนให้เห็นปัญหาความยากจนเรื้อรัง
นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด ในปี 2565 พบว่า 6 ใน 10 จังหวัด ที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด มักจะติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีความยากจนสูงที่สุดในปีอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญ ปัญหาความยากจนเรื้อรัง โดยจังหวัดที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส กาฬสินธุ์ ปัตตานี ตาก และ ศรีสะเกษ