อัปเดตล่าสุด เงินสมทบประกันสังคม 2567 ผู้ประกันตนม.33 เตรียมจ่ายเพิ่ม (รายละเอียด)
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 2567 ล่าสุดกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม กำลังพิจารณา ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ... เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่ ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ข้อมูลอัปเดต ณ เดือนตุลาคม 2566 มีจำนวน 11,833,086 คน
อัตราใหม่ต้องจ่ายเท่าไหร่-เริ่มเมื่อไหร่ ?
โดยประเด็นสำคัญ ของร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปรับฐานสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท กำหนดอัตราใหม่ ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท
ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท
ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท
สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม ภาระที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้
1. กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาตามวันที่แพทย์สั่งให้หยุดงาน
2. กรณีคลอดบุตร เงินสงเคราะห์หยุดงาน 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 90 วัน
3. กรณีทุพพลภาพ เงินทดแทนการขาดรายได้
50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาตลอดชีวิต กรณีทุพพลภาพรุนแรง
30% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 180 เดือน กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง
4. กรณีเสียชีวิต เงินสงเคราะห์ตายจ่ายให้ทายาท 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 4 หรือ 12 เดือน แล้วแต่กรณี
5. กรณีว่างงาน เงินทดแทนการขาดรายได้
เนื่องจากถูกเลิกจ้าง 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
เนื่องจากสมัครใจลาออก 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
เนื่องจากเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
6. เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้าง ตั้งแต่เกษียณจากการทำงานไปจนตลอดชีวิต โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี ที่ส่งเงินสมทบเพิ่มเติม เช่น หากส่งเงินสมทบ 25 ปี จะได้รับบำนาญ 20% + (1.5% x 10) = 35% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
7. เงินบำเหน็จชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 15 ปี ผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จตามจำนวนเงินสมทบที่นำส่ง รวมผลตอบแทนการลงทุน
ตัวอย่างผลประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ในปี 2567
1.เงินทดแทนกรณีว่างงาน ผู้ประกันตนที่ค่าจ้างมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเดือนละ 875 บาท (เดิม 750 บาท) และจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท (เดิม 7,500 บาท) เป็นต้น
2.เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย เพิ่มเป็น 292 บาท/วัน จากเดิม 250 บาท/วัน
3.เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็น 8,750 บาท/เดือน จากเดิม 7,500 บาท/เดือน
4.เงินสงเคราะห์กรณีลาคลอด เพิ่มเป็น 26,250 บาท/เดือน จากเดิม 22,500 บาท/เดือน
5.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เพิ่มเป็น 35,000 บาท/เดือน จากเดิม 30,000 บาท/เดือน
6.เงินบำนาญ โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 3,500 บาท/เดือน จากเดิม 3,000 บาท/เดือน ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี ได้รับเพิ่มเป็น 6,125 บาท/เดือน จากเดิม 5,250 บาท/เดือน
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น จากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
ทั้งนี้กฎกระทรวงฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 จนถึงปัจจุบัน
โดยเหตุผลสำคัญของร่างกฎหมาย หรือกฎหมายใหม่ที่สำนักงานประกันสังคม นำมารับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย
1.เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
2.เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้
3.เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น
4.เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ภายในระบบประกันสังคม
5.เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม
สำหรับขั้นตอนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อกลางปี 2565 จากนั้นกระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวง และนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมเสนอความเห็นทั้งหมด 55,584 คน เมื่อปิดรับฟังความคิดเห็น จะยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยเป็นเพียงเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนต่อไป จะมีการดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายตามข้อเสนอแนะ โดยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการ ตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม