ถึงขั้นไล่ออก! ผอ.รพ. ยอมรับพลาดจ่ายกรดแทนยา ลั่นสั่งสอบข้อบกพร่องฟันโทษหนักที่สุด
จากกรณีเพจ เป็นหนึ่ง ได้ให้ความช่วยเหลือคุณแม่ วัย 25 ปี ร้องเรียนลูกน้อย 1 ขวบ 4 เดือน เข้ารักษาตัวในพยาบาลโรงพยาบาลดังแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ก่อนพยาบาลจ่ายยาให้ผิดเป็นกรด ทำให้เด็กอาการทรุดหนัก เข้าห้องไอซียู ก่อนประสานไปยัง รมว.สาธารณสุข ออกคำสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ โรงพยาบาลบางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดย น.พ.วันฉัตร ชินสุวาเทย์ ผอ.โรงพยาบาลบางจาก พร้อมคณะแพทย์และพยาบาล ร่วมแถลงชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยมี น.ส.ชลิดา พะละมาตย์ ประธานกลุ่มเป็นหนึ่ง พร้อม แม่ และป้าของเด็กผู้เสียหาย ร่วมฟัง มีใจความว่า จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ รพ.บางจาก จ่ายยาให้เด็กวัย 1 ขวบ ผิดเป็นเหตุให้เกิดอาการสาหัสนั้น เกิดจากการผิดพลาดมีการจ่ายยาผิดจริง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ และให้หยุดงานทันที หากมีความผิดจริง จะมีโทษทางวินัยสูงสุดคือไล่ออก ยืนยันตามปกติแล้ว ยาจะจัดวางแยกกันอยู่แล้ว แต่ยอมรับ บรรจุภัณฑ์และสียาทั้ง 2 ตัวใกล้เคียงกัน
หลังจากที่รับทราบข้อมูล ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และดูใบสั่งยาจากแพทย์ รวมถึงมีการรวบรวมข้อมูล ทราบว่าน้องหกล้ม มีปัญหาทางด้านศีรษะ และจะส่งตัวไปรับการสแกนสมอง ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเครื่องสแกน ซึ่งในระหว่างที่ดำเนินการต้องมีการให้ยาให้เคลิ้ม เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจ แต่ประเด็น คือ อาจจะมีความคาดเคลื่อนในการเตรียมยาที่ให้น้องหลับ แต่กลายเป็นยาอีกตัวหนึ่ง ที่มีฤทธิ์เป็นกรด จึงทำให้เกิดอาการระคายเคือง
โดยความคลาดเคลื่อนที่ ผอ.ระบุนั้น เข้าใจว่าเป็นช่วง ขั้นตอนของการเตรียมยา ซึ่งตอนนี้ทางโรงพยาบาลอยู่ระหว่างการสอบสวนอยู่ เบื้องต้น ตัวยาที่จ่ายไปให้นั้น คือ TCA หรือ กรดไตรคลอโรอะซิติก เป็นยาใช้ภายนอก สำหรับพวกติ่งเนื้อ หรือหูด ฤทธิ์ของมันเป็นกรด ก็จะเกิดการระคายเคืองหากมีการรับประทานเข้าไป
ทั้งนี้ โดยปกติตัวยาทั้ง 2 ชนิด จะจัดวางแยกกัน ระหว่างยาใช้ภายนอกที่มีฤทธิ์เป็นกรด และ ยาใช้ภายใน แต่ต้องไปตรวจสอบว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร แต่โดยโฟลว์ของการจ่ายยา ก็จะมีการจัดยาให้ตรง เป็นไปตามมาตรฐานของทุกโรงพยาบาล แต่ยาทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งบรรจุภัณฑ์ และสียา
เบื้องต้น มีการให้เจ้าหน้าที่หยุดงานทันทีในระหว่างขั้นตอนการสอบสวน ยืนยันว่า ผู้ที่จ่ายยาให้เป็นทีมเภสัชกร ซึ่งทางจังหวัดเองไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามที่จะตรวจสอบข้อมูล ให้ทำข้อมูลขึ้นไป และเน้นย้ำให้ทางโรงพยาบาลดูแลเด็กรายนี้ ในเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาเต็มที่ และทำเอกสารเพื่อยื่น ม. 41 เพื่อการเยียวยากับน้องโดยตรงต่อไป