จุรินทร์ ลาออก รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป.

จุรินทร์ ลาออก รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป.

เมื่อเวลา 14.25 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคแล้ว โดยแจ้งผ่านกลุ่มไลน์กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) สาเหตุสืบเนื่องจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองมีการระบุชื่อ นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ซึ่งเป็นเอกสารแจ้งอัพเดตสถานะพรรคการเมืองแต่ละพรรค นายราเมศกล่าวว่า แม้ว่าล่าสุดกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลแล้ว แต่เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยประเด็นข้อกฎหมาย และให้การจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคราบรื่น นายจุรินทร์จึงแสดงเจตจำนงลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป.

โดยเพิ่งลาออกวันนี้ เวลา 14.07 น. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายนราพัฒน์ยังไม่ได้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค เนื่องจากต้องมีการประชุม กก.บห.ก่อน โดย กก.บห.พรรคต้องเป็นผู้พิจารณาเลือกรักษาการหัวหน้าพรรค เพื่อให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคต่อไป “เอกสารที่กองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองประกาศคือ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ซึ่งประกาศก่อนที่นายจุรินทร์จะลาออก โดยเป็นการแจ้งข้อมูลพรรคการเมือง 82 พรรคที่ดำเนินการอยู่ ส่วนใครยื่นเอกสารให้กองทุน จึงมีการเปลี่ยนชื่อรักษาการหัวหน้าพรรคนั้น มองว่าเป็นการให้ข้อมูลของกองทุนเอง ส่วนข้อมูลผิดหรือไม่คงตอบแทนกองทุนไม่ได้” นายราเมศกล่าว

เมื่อถามว่า แปลกใจหรือไม่ที่เป็นชื่อของนายนราพัฒน์ ทั้งที่นายจุรินทร์ยังไม่ได้ลาออก รวมถึงนายนราพัฒน์ยังเป็นแคนดิเดตที่จะลงชิงหัวหน้าพรรคด้วย นายราเมศกล่าวว่า มองว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากกว่า และไม่อยากให้นำมารวมกัน เพราะในส่วนของเอกสารที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงมา ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแต่ละครั้งจะมีรองหัวหน้าพรรค ซึ่งรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือจะอยู่ลำดับแรก และเมื่อนายจุรินทร์ลาออก จึงมีการแจ้งไปที่ กกต. และ กกต.จึงแจ้งหนังสือกลับมายังพรรคว่าเมื่อนายจุรินทร์ลาออก ลำดับถัดไปคือนายนราพัฒน์ จาก 32 รายชื่อ เพราะเวลาเลือกตั้งภาคเหนือจะขึ้นเป็นอันดับที่ 1 เมื่อถามว่า เหตุใดจึงไม่โต้แย้ง นายราเมศกล่าวว่า เราได้ทำการโต้แย้ง โดยทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง

ซึ่ง นายสรรเสริญ สมะลาภา รักษาการรองหัวหน้าพรรค ได้ชี้แจงไป และตนได้ตรวจกฎหมายสองฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีการระบุไว้ถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองลาออก หรือเว้นว่างจากตำแหน่ง แต่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง พ.ร.ป.ระบุไว้ว่าหากหัวหน้าพรรคลาออกกระบวนการต้องทำอย่างไร แต่กฎหมายที่พรรคการเมืองระบุไว้ให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ดังนั้น

ต้องกลับมาดูข้อบังคับพรรคว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งของพรรคเราเขียนไว้ชัดเจนว่าหัวหน้าพรรคต้องรักษาการ เมื่อถามว่า หลังจากแย้งไปแล้วกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ นายราเมศกล่าวว่า เราแจ้งไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ทราบ เพราะเรามั่นใจในรัฐธรรมนูญ ในกฎหมายพรรคการเมือง และมั่นใจในเจตนารมณ์ข้อบังคับพรรค ปชป.ว่านายจุรินทร์ยังคงเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อแจ้ง กกต.ไปแล้ว กกต.ก็รับทราบและไม่ได้มีข้อโต้แย้งกลับมา โดยเอกสารกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองฉบับล่าสุด วันที่ 12 ตุลาคม 2566 มีการเว้นว่าง ไม่ได้ระบุชื่อใคร

“ผมเชื่อว่าคงเป็นความคลาดเคลื่อน ไม่อยากไปพูดว่ามีความผิดพลาดตรงไหน และเชื่อว่าทุกคนไม่ได้มีเจตนาร้าย ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพรรคที่เราจะต้องมาพูดคุยกันในส่วนของข้อบังคับพรรคว่าเรื่องนี้ระบุอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดข้อถกเถียงขึ้น แต่เคยมีการประชุม กก.บห.พรรคเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเพื่อพูดคุยกัน และที่ประชุมมีมติให้นายจุรินทร์ยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค” นายราเมศกล่าว เมื่อถามว่า เมื่อนายจุรินทร์ลาออกจากหัวหน้าพรรคและรักษาการหัวหน้าพรรคในวันนี้ ตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคก็จะเว้นว่าง ไม่ใช่นายนราพัฒน์ใช่หรือไม่ นายราเมศกล่าวว่า ถูกต้อง แล้วคงต้องมีการไปพูดคุยกันในที่ประชุม กก.บห. ก่อนจะเข้าสู่ระเบียบวาระในส่วนการกำหนดวันเวลา สถานที่ องค์ประชุมที่จะมีเพิ่มหรือไม่เพิ่ม

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ