ดับฝันชาวนา เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 thansettakij รายงานว่า เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เตรียมเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นี้ โดยมาตรการดังกล่าว กำหนดไทม์ไลน์ว่า หากผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว เบื้องต้นน่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ที่จะเสนอเข้ามายังครม.ครั้งนี้
จะตัดวงเงินการจ่ายลดเหลือครึ่งเดียวก่อน หรือจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะจ่ายให้ก่อนไร่ละ 500 บาท ส่วนที่เหลือจะทยอยจ่ายให้ในระยะถัดไป เพราะปัจจุบันวงเงินในการดำเนินโครงการมีอยู่อย่างจำกัด หากจ่ายให้คราวเดียวทั้งก้อนจะกระทบกับสภาพคล่องทางการเงินของ ธ.ก.ส. ได้
แหล่งข่าว ระบุว่า วงเงินที่จะใช้รอบนี้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาแหล่งเงินแล้ว ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรา 28 ตามพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เห็นว่าจะแบ่งจ่ายเป็นสองงวด ขณะเดียวกันหากใช้งบกลางซึ่งอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ก็มีวงเงินจำกัด เพราะเหลืออยู่เพียงแค่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น สำหรับการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท นั้น
มีกรอบวงเงินจ่ายขาดอยู่ที่ 56,321 ล้านบาท กำหนดเกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน โดยจะให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท กับเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือคิดเป็นเงิน 20,000 บาท เบื้องต้นกำหนดช่วงเวลาการจ่ายเงิน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 – 30 กันยายน 2567 อย่างไรก็ตามในมาตรการช่วยเหลือชาวนานั้น ที่ผ่านมารัฐบาล ได้ออกนโยบายไปแล้ว 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือชาวนาในการดูดซับปริมาณข้าวออกจากตลาด แบ่งเป็น สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทั้ง 2 มาตรการมีวงเงินรวมกว่า 55,038.96 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. 44,437 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 10,601.96 ล้านบาท
ข้อมูลจาก thansettakij