ไทยมีหนาว มังคุดอินโดนีเซีย ไล่กวดในตลาดจีน กดราคาร่วง เผยรายชื่อ 5 จังหวัดมีผลผลิตมากสุด
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาข้อมูลสถานการณ์การค้ามังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย รองจากทุเรียน และลำไย มังคุดไทย มีจุดเด่น คือ ผลใหญ่ เปลือกบาง มีคุณภาพและรสชาติดี ที่ผ่านมาการส่งออกมังคุดของไทย มากกว่า 90% พึ่งพาตลาดจีน ดังนั้นต้องพยายามรักษาตลาดจีน และกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น
ในปี 2565 ไทยมีพื้นที่ปลูกมังคุด ประมาณ 4.4 แสนไร่ มีผลผลิตรวมกว่า 2.5 แสนตัน แหล่งผลิตมังคุดสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ จังหวัดที่มีผลผลิตมังคุดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง นครศรีธรรมราช และ ระนอง โดยผลผลิตมากกว่า 60% มาจากจังหวัดจันทบุรี และมากกว่า 80% ของผลผลิตมังคุดไทยทั้งหมด จะถูกส่งออกไปขายในต่างประเทศ
สถานการณ์การส่งออกมังคุด ปี 2565 ไทยมีปริมาณส่งออก 205,804.31 ตัน หดตัว 19.73% จากปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออก 399.93 ล้านเหรียญสหรัฐ (13,532.31 ล้านบาท) หดตัว 26.26% สำหรับปี 2566 ช่วง 9 เดือนแรก 2566 มีปริมาณส่งออกรวม 240,150.09 ตัน ขยายตัว 17.33% มูลค่าส่งออก 483.57 ล้านเหรียญสหรัฐ (16,530.72 ล้านบาท) ขยายตัว 22.11% ตลาดส่งออกมังคุดที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรกช่วง 9 เดือนแรก คือ จีน สัดส่วน 93.75% ของมูลค่าการส่งออกมังคุดไทย ตามด้วย เวียดนาม สัดส่วน 3.45% ฮ่องกง สัดส่วน 0.71 %
ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกมังคุดหลักของไทย อนุญาตให้นำเข้ามังคุดสดได้จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีน ปี 2565 จีนนำเข้ามังคุดจากไทย 545.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 21.84% คิดเป็นสัดส่วน 86.8 %ของมูลค่าการนำเข้ามังคุดทั้งหมดของจีน คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดจีน คือ อินโดนีเซีย ปี 2565 ที่จีนนำเข้า 82.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19.33% สัดส่วน 13.2%
มูลค่าการนำเข้าและสัดส่วนการนำเข้ามังคุดจากไทยลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าและสัดส่วนการนำเข้าจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ดังนั้น ไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในจีนรวมทั้งกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป
ทั้งนี้ วันที่ 7 สิงหาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บรรลุข้อตกลงการเปิดตลาดมังคุดไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นโดยไม่ต้องผ่านการอบไอน้ำ จากเดิมที่ต้องผ่านการอบไอน้ำเพื่อกำจัดไข่และหนอนแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศคู่ค้า (ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) แต่การอบไอน้ำจะทำให้อายุการเก็บรักษามังคุดสั้นลง จึงจำเป็นต้องขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออกและทำให้มังคุดที่ส่งไปญี่ปุ่นมีราคาแพง จากข้อตกลงฯ ดังกล่าว สามารถช่วยลดต้นทุนการส่งออก ช่วยคงความสดใหม่ของผลมังคุดสด ยืดอายุการเก็บรักษาผลมังคุดสดให้ยาวนานขึ้น และสามารถขนส่งทางเรือได้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากทางเครื่องบิน ส่งผลดีต่อการส่งออกมังคุดไทยไปตลาดญี่ปุ่นได้ในราคาที่ถูกลง และทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
ปี 2565 ไทยส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่น 82.41 ตัน คิดเป็น 0.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (12.98 ล้านบาท) และปี 2566 ช่วง 9 เดือนแรก ไทยส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่น 129.68 ตัน มูลค่า 0.73 ล้านเหรียญสหรัฐ (24.98 ล้านบาท) มูลค่าเพิ่มขึ้น 89.58% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการลดข้อจำกัดด้านการอบไอน้ำของมังคุดที่จะส่งออกไปญี่ปุ่น ถือเป็นโอกาสหนึ่งในการขยายการส่งออกมังคุดของไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า มังคุดเป็นผลไม้ส่งออกของไทย มีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นหลัก ปัจจุบันตลาดจีนเริ่มมีคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย และเมียนมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องรักษามาตรฐานและยกระดับการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด เพิ่มปริมาณการส่งออก และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง อาทิ ใช้เทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา การประชาสัมพันธ์ และสร้างจุดเด่นให้สินค้ามีความแตกต่างจากคู่แข่ง อาจชูจุดเด่นด้านแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงและคุณภาพของผลผลิต
ซึ่งมังคุดที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว ได้แก่ มังคุดเขาคีรีวง มังคุดในวงระนอง และมังคุดทิพย์พังงา ทั้งนี้การขึ้นทะเบียน GI ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของสินค้า ตลอดจนพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการและรสนิยมที่แตกต่างกันของผู้บริโภคในแต่ละตลาดด้วย