เตือนด่วน ดูแลเด็กเล็ก-ผู้สูงวัยให้ดี เชื้อ hMPV ต้นเหตุทำปอดอักเสบ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
ช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว คือตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน มีการระบาดของเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human Metapneumovirus (hMPV) ควบคู่ไปกับเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV)
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมรูปอธิบายถึงอาการของโรคนี้ว่า คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และ RSV มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก เหนื่อย หายใจไม่สะดวก แยกยากจากไวรัสตัวอื่นๆ ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการถึงจะบอกได้ ปัจจุบันการตรวจ hMPV ทำได้ง่ายโดยการแยงจมูก ให้ผลเร็ว ทำให้พบเชื้อนี้มากกว่าแต่ก่อน พบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
เชื้อไวรัส hMPV มักจะเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนล่างหลอดลมและปอดในคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน หอบหืด โรคไต ทำให้เกิดอาการเหนื่อย จนต้องให้ออกซิเจน บางคนถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว เชื้อนี้ไม่มียาต้านไวรัสและไม่มีวัคซีนป้องกัน ให้การรักษาตามอาการ
นพ.มนูญ ยกเคสผู้ป่วยชายไทยอายุ 72 ปี เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง มาโรงพยาบาลวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ด้วยไอมาก มีน้ำมูกใส เจ็บคอบ้าง เหนื่อย หายใจลำบาก 1 วัน มีไข้สูง ตรวจร่างกาย อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส มีเสียงผิดปกติในปอด ขาบวมเล็กน้อย เจาะเลือด เลือดจางเล็กน้อย เม็ดเลือดขาวปกติ การทำงานของไต BUN 96 Cr 8.9 ระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้วต่ำมาก 84 % เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวในปอดทั้ง 2 ข้าง แยงจมูกตรวจหาแอนติเจนของไวรัส พบเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (hMPV) ให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลที่สูงทางจมูก (High-flow nasal cannula) ให้เสตียรอยด์ ต่อมาต้องฟอกไต เอกซเรย์ปอดแย่ลง แล้วค่อยๆดีขึ้น อาการเหนื่อย ไอค่อยๆดีขึ้น นอนรักษาในรพ. 12 วัน ในที่สุดเอกซเรย์ปอดดีขึ้นมาก (ดูรูป) กลับบ้านได้ ไม่ต้องใช้ออกซิเจน
ส่วนภรรยาผู้ป่วยอายุ 68 ปี แข็งแรงดี ก็ติดเชื้อ hMPV จากผู้ป่วยวันที่ 25 ตุลาคม 2566 แต่อาการน้อย มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดหัว ปวดตัวบ้างไม่มีไข้ ไม่ไอ หายเองใน 5 วัน
สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ hMPV ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ hMPV ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปสถานที่ชุมชนที่มีคนเยอะ เลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย การใส่หน้ากากอนามัย ไม่เอามือไปแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก และการล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจ
เรียบเรียง สยามนิวส์