อัปเดตล่าสุด เงินอุดหนุนบุตร 2567 เข้าวันไหน

อัปเดตล่าสุด เงินอุดหนุนบุตร 2567 เข้าวันไหน

ต้องบอกเลยว่า โครงการเงินอุดหนุนบุตรเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ เงินอุดหนุนบุตร เป็นหนึ่งในสวัสดิการของรัฐที่เด็กแรกเกิดมีสิทธิ์ได้รับหากอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคุณแม่ที่มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กำหนด วันนี้เราจะพามาดูว่าดครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขอะไรบ้าง และต้องสมัครยังไง เงินเข้าวันไหนในปี 2567

ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแล้วจะได้รับเงินอุดหนุนบุตร เดือนละ 600 บาท ทุกเดือน จนกว่าเด็กจะมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ปกครองที่ลงทะเบียน

กรมบัญชีกลางจะยึดหลักเกณฑ์จ่ายเงินเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน และหากตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะจ่ายเงินเด็กแรกเกิดเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด ดังนั้น ในปี 2567 กรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินอุดหนุนบุตรเข้าบัญชี ดังนี้

เดือนมกราคม : วันพุธที่ 10 มกราคม 2567

เดือนกุมภาพันธ์ : วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

เดือนมีนาคม : วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567

เดือนเมษายน : วันพุธที่ 10 เมษายน 2567

เดือนพฤษภาคม : วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567

เดือนมิถุนายน : วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567

เดือนกรกฎาคม : วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567

เดือนสิงหาคม : วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567

เดือนกันยายน : วันอังคารที่ 10 กันยายน 2567

เดือนตุลาคม : วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2567

เดือนพฤศจิกายน : วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567

เดือนธันวาคม : วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567

เงินอุดหนุนบุตร 2567 ใครจะได้รับบ้าง ?

เป็นผู้ลงทะเบียนรายเดิมที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุน และบุตรยังมีอายุไม่ครบ 6 ปีบริบูรณ์

ผู้ลงทะเบียนรายใหม่ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว และมีการบันทึกข้อมูลสมบูรณ์อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโครงการเงินอุดหนุนฯ ภายในวันที่กำหนด

ใครลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตรได้บ้าง ?

ผู้ปกครองที่ต้องการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนบุตรจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังนี้

คุณสมบัติเด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนบุตร

ต้องมีสัญชาติไทย

พ่อแม่ของเด็กต้องมีสัญชาติไทย หรือคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย

เด็กเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป จนครบ 6 ปีบริบูรณ์

อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน

คุณสมบัติผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร

มีสัญชาติไทย

เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในอุปการะ (ไม่ใช่พ่อแม่ก็ได้)

เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย

อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกในครัวเรือนที่อาศัยอยู่ติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 180 วัน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี (นำรายได้รวมทั้งครัวเรือน 1 ปี มาหารด้วยจำนวนสมาชิกในครัวเรือน)

รับราชการก็สามารถลงทะเบียนได้

หมายเหตุ มารดาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ยังไม่ต้องมายื่นคําร้องขอลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รอให้คลอดบุตรก่อนจึงลงทะเบียนได้

ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตรได้ไหม

หากมีประกันสังคม

ไม่ว่าผู้ปกครองจะเป็นสมาชิกประกันสังคมหรือไม่ก็สามารถลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนบุตรได้ หากมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ข้างต้น

ทั้งนี้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร ประกันสังคม อีกเดือนละ 800 บาทด้วย ลงทะเบียนอุดหนุนบุตร 2567 ได้ที่ไหน ? สำหรับคนที่ไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน หรือเพิ่งคลอดบุตร สามารถมาลงทะเบียนได้ ณ สถานที่รับลงทะเบียนต่อไปนี้

กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่

เมืองพัทยา : ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตามภูมิลำเนา

ลงทะเบียนเงินอุดหนุนบุตร เอกสารที่ใช้มีอะไรบ้าง

1. แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01) (ดาวน์โหลดที่นี่)

2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) (ดาวน์โหลดที่นี่) โดยต้องได้รับการรับรองแล้วจากบุคคล 2 คน คือ ผู้รับรองคนที่ 1

กรุงเทพมหานคร : อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการชุมชนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปฏิบัติงานในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง หากไม่มีผู้รับรองคนที่ 1 ให้ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งในระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่ปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับรองได้

เมืองพัทยา : อาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนเมืองพัทยา

ส่วนภูมิภาค : อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือชุมชน ผู้รับรองคนที่ 2

ได้แก่ ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำตำบล ประธานชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการสถานบริการสาธารณสุขในระดับตำบล ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งในระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่ปฏิบัติหน้าที่ในท้องที่หรือท้องถิ่นแห่งนั้น (ต้องไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายในการรับลงทะเบียน)

กรณีสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน ไม่ต้องมีผู้รับรองสถานะของครัวเรือน

3. บัตรประจําตัวประชาชนแบบ Smart Card ของผู้ปกครอง

4. สูติบัตรเด็กแรกเกิด

5. ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท

6. สำเนาเอกสาร หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรหรือเอกสารอื่นที่แสดงสถานะหรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2

7. สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)

8. สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์ (หากสมุดหายให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

:: เนื้อหาข่าวที่น่าสนใจ