ครั้งแรกในรอบ 34 ปี หลวงพ่อโสธร ถูกลอกผิวสีทองออก เห็นเนื้อในองค์จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ทำการบูรณะปิดทองหลวงพ่อโสธร พร้อมพระหมู่บริวาร นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ซึ่งมีการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
อย่างไรก็ตาม 14 มกราคม 2564 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี และกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้ดำเนินการสำรวจสภาพองค์หลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูป ของวัดโสธรวรารามวรวิหาร พบว่า พระพุทธรูปมีรอยกะเทาะแตกออก จนเห็นเนื้อใน สาเหตุการเสื่อมสภาพแตกร่อน เกิดจากการพอกทาสีด้วยวัสดุสมัยใหม่ (สีอะคริลิก) และไม่ประสานกับวัสดุดั้งเดิม และแตกร่อนออกมา และอาจมีปัญหาของความชื้นภายในร่วมด้วย
ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจ ที่ว่าการอำเภอพนมสารคาม ได้เผยแพร่ภาพ หลวงพ่อโสธร (องค์จริง) ถูกลอกผิวสีทองออกจนเห็นเนื้อใน นับว่าเป็นบุญตา เพราะน้อยคนนักที่จะเคยเห็น ขณะเดียวกัน ที่บริเวณภายในพระอุโบสถหลังใหม่ ทางกองโบราณคดีกรมศิลปากร ได้มีการขึงตาข่ายเป็นม่านสีดำไว้โดยรอบองค์หลวงพ่อโสธรและพระอริยสงฆ์สาวก พร้อมกันพื้นที่เป็นแนวเขตของการก่อสร้างบูรณะไว้
สำหรับหลวงพ่อพุทธโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นหนึ่งในห้าพระพุทธปฏิมาที่ขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มีปาฏิหาริย์สัมฤทธิ์ผล ดุจเทพบันดาล มีเทพยาดาอารักษ์เฝ้าสถิตรักษาจำนวนมาก เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และใกล้เคียงมาช้านาน ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ข้อมูลจากกรมศิลปากร พบว่า หลวงพ่อโสธรประกอบขึ้นจากหินทรายแปดชิ้น แล้วพอกปูนทับเป็นองค์ จากวัสดุที่ใช้ และพุทธศิลป์ พบว่าเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน หลายคนที่มาบนบานต่างสมปรารถนามาแล้วจำนวนมาก